สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น น้ำไม่ท่วม !!!

by sator4u_team @16 ต.ค. 59 21:48 ( IP : 27...147 ) | Tags : แลใต้ , พ่อหลวงของชาวปักษ์ใต้

ปลายเดือนตุลาคม 2540 พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” ได้ก่อตัวขึ้นและเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และคาดว่าจะขึ้นฝั่งที่บริเวณจังหวัดชุมพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จังหวัดชุมพรเร่งขุดคลองหัววัง - พนังตัก ที่ยังขุดไม่แล้วเสร็จ ให้ทะลุเพื่อระบายน้ำจากตัวเมืองชุมพรลงสู่ทะเลโดยเร็ว เพื่อให้ทันกับการขึ้นฝั่งของพายุฯ

 คำอธิบายภาพ : pic58039338e5cf3pic5

ที่ อ.เมือง จ.ชุมพร ในอดีตนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยแทบจะทุกปี ด้วยภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม ด้านทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือมีภูเขาสูง ทำให้กลายเป็นที่รองรับน้ำจากที่อื่น ก่อนจะไหลลงสู่อ่าวไทย แต่หากระบายไม่ทันก็จะกลายเป็นน้ำท่วมในตัวเมือง เช่นเมื่อคราวพายุไต้ฝุ่นเกย์ ในปี 2532 และพายุโซนร้อนซีต้า ในปี 2540 ซึ่งทำให้ในตัวเมืองชุมพรมีน้ำท่วมสูง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนมากมาย สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาล และใช้เวลานานในการฟื้นฟูเมืองให้กลับมาเป็นเหมือนเก่า


แต่ในปี 2540 นั้นเอง ชาวชุมพรก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นอย่างมาก เพราะภายหลังจากเกิดพายุซีต้าที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในตัวเมืองชุมพรสูงถึง 2.20 เมตร ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ตรวจสอบ และศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพร


พบว่า มีพื้นที่ลุ่มทางตอนเหนือของเมืองชุมพร เรียกว่า “หนองใหญ่” ตั้งอยู่ที่ ต.บางลึก อ.เมืองชุมพร มีสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเหมาะสมที่จะใช้พักน้ำก่อนการระบายลงสู่ทะเล เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับคลองหัววัง - พนังตัก สามารถรับน้ำและระบายน้ำลงสู่ทะเลได้โดยไม่ต้องผ่านเมือง แต่คลองนั้นยัง ไม่ได้ขุดให้ตลอด เหลือระยะทางอีกประมาณ 1,460 เมตร


พระองค์ท่านทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในหนองใหญ่ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และพระราชทานชื่อว่า “ประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1"


จาก“คลองหัววัง-พนังตัก” ถึง“หนองใหญ่” ชุมพรสุขร่มเย็นด้วยพระบารมี



จากนั้นก็มีพระราชกระแสรับสั่งให้ทาง จ.ชุมพร เร่งขุดคลองหัววัง - พนังตัก ที่ยังขุดไม่แล้วเสร็จในบริเวณอ่าวพนังตัก หมู่ที่ 4 ต.นาชะอัง อ.เมืองชุมพร ให้ทะลุเพื่อระบายน้ำจากตัวเมืองชุมพรลงสู่ทะเลโดยเร็ว ให้ทันกับการขึ้นฝั่งของพายุไต้ฝุ่นลินดา ที่คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่ จ.ชุมพร ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2540


ในที่สุดการขุดคลองหัววัง-พนังตัก ก็แล้วเสร็จลงก่อนที่พายุไต้ฝุ่นลินดาจะเข้าฝั่งเพียง 1 คืน เมื่อพายุเข้าฝั่งจึงได้ใช้ประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1 ระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงทะเลผ่านคลองหัววัง - พนังตัก น้ำจึงไม่ท่วมตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งในภายหลังก็ยังทรงมีพระราชดำริให้ปรับปรุงพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแก้มลิงที่สมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับการระบายน้ำในอนาคต


หลังจากนั้นจนถึงทุกวันนี้ ตัวเมืองชุมพรก็ไม่เคยมีน้ำท่วมอีกเลย ซึ่ง พิพัฒน์ บอกว่า “คลองหัววัง-พนังตัก กับแก้มลิงที่หนองใหญ่มีประโยชน์กับคนชุมพรสุดที่จะพรรณนา สิบกว่าปีนี้ที่ไม่มีน้ำท่วมเลยก็ทำให้เศรษฐกิจของชุมพรขยายตัวขึ้นเยอะ ชาวบ้านก็ไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องน้ำท่วมอีก คิดว่าโครงการนี้น่าจะเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่อื่นๆ ได้ดี เพราะพระเมตตาของในหลวง ทำให้คนชุมพรมีความสุขได้ในทุกวันนี้ ”


"ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น"  ทั่วทั้งเมืองชุมพร วันนี้ ชาวเมืองได้แสดงออกถึงสำนึกในพระบารมีกรุณาธิคุณ ด้วยการแขวนป้ายที่หน้าบ้านไว้แทบจะทุกหลังคาเรือน แผนป้ายนี้มีข้อความว่า


"ด้วยพระบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น" เป็นเวลา 12 ปีแล้ว ที่น้ำไม่เคยท่วมจังหวัดชุมพระอีกเลย นับแต่มีโครงการพระราชดำริพระราชทานไว้ให้กับชาวชุมพร ตั้งแต่ปี 2541"


ปัจจุบัน โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริได้พัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการโดยชุมชนที่อยู่รอบ ๆ พื้นที่หนองใหญ่


มีลักษณะภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ในที่ลุ่ม จังหวัดชุมพรจะประสบปัญหาอุทกภัยเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอใกล้เคียง  ในบางปีที่มีฝนตกชุกอาจเกิดน้ำท่วมหลายครั้งสร้างความสร้างความเสียหายให้แก่คนชุมพรมาโดยตลอด


ระหว่าง วันที่ 18-22 สิงหาคม 2540 เกิดพายุโซนร้อนซีต้า พัดขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ผ่านไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือของไทย อิทธิพลของพายุโซนร้อนซีต้าทำให้ฝนตกหนักมากทั่วทุกพื้นที่ของจังหวัดชุมพร น้ำในคลองต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลันในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตเมืองชุมพร น้ำท่วมมีระดับสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชาวชุมพร  ตามมาด้วยอีกสามเดือนต่อมา ในเดือนพฤศจิกายน ในปีเดียวกันนั้น กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเตือนว่า “พายุ ลินดา” ซึ่งเป็นพายุที่มีลักษณะการก่อตัวบริเวณเดียวกันกับพายุเกย์ และพยากรณ์ว่าจะมีความรุนแรงใกล้เคียงกัน จะขึ้นฝั่งบริเวณจังหวัดชุมพร ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 8 ปี แห่งการเกิดมหาวาตภัยไต้ฝุ่นเกย์พอดี สร้างความตื่นตระหนกให้กับชาวชุมพรอย่างยิ่ง เพราะเพิ่งประสบอุทกภัยอย่างรุนแรงผ่านมาเพียง 3 เดือน


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงถึงความเดือดร้อนของราษฎรชาวชุมพร ทรงเร่งรัดให้ทำการขุด คลองหัววัง-พนังตัก ให้แล้วเสร็จ เพื่อสามารถระบายน้ำลงสู่ทะเลได้ก่อนที่พายุจะขึ้นฝั่ง


จังหวัดชุมพรเป็นเส้นทางพายุพัดผ่าน ในเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนธันวาคมของทุกปี พายุโซนร้อนที่เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิก ทะเลจีนใต้ จะมีแนวโน้มเคลื่อนตัวเข้ามาในอ่าวไทย จังหวัดชุมพรจึงเป็น พื้นที่เสี่ยงที่จะมีพายุพัดเข้า


ที่รุนแรงที่สุดคือ ครั้งที่มหาวาตภัยใต้ฝุ่นเกย์พัดเข้าชุมพรในวันที่ 4 พ.ย. 32 สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างมาก พายุมีความเร็วลม 150 กม/ชม. มีประชาชนเสียชีวิต 446 คน บ้านเรือนเสียหาย 41,208    ปี 2540 พายุโซนร้อนซีต้าสร้างความเสียหายให้แก่ จ.ชุมพร กรมอุตุนิยมวิทยาเตือนว่าพายุลินดา จะขึ้นฝั่งอีกในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยความเดือดร้อนของชาวชุมพร


เมื่ออุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนการก่อตัวของพายุ “ลินดา” พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้เร่งขุดคลองหัววัง – พนังตัก ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2540 เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำท่าตะเภา ที่บ้านหัววัง ลงสู่ทะเลที่อ่าวพนังตัก ซึ่งคลองดังกล่าวกรมชลประทานได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 แต่ยังไม่แล้วเสร็จ คงเหลือระยะทางอีก 1,460 เมตร จึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ผ่านมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นเงิน 18 ล้านบาท การก่อสร้างประตูระบายน้ำแล้วเสร็จและขุดคลองหัววัง – พนังตัก ทะลุลงทะเลได้ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนที่พายุลินดาจะเข้าเพียง 1 วัน ในระหว่างการขุดคลองพระองค์ทรงทราบความเดือดร้อนของราษฎรบ้านนาชะอัง หูรอและพนังตัก ที่ถนนเข้าออกหมู่บ้านถูกตัดขาด จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ 800,000 บาท ให้ก่อสร้างทางเบี่ยงและ พระราชทานชื่อว่า “ถนนราชประชาร่วมใจ”


ในครั้งนั้น ชาวชุมพรรอดพ้นจากอุทกภัย ด้วยพระปรีชาญาณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระองค์ได้มีพระราชดำรัส เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ว่า “สิบแปดล้านกว่า ก็น่าจะคุ้มค่า เป็นการประหยัดของประชาชน ทั้งเป็นการประหยัดเงินของราชการด้วย น้ำจึงไม่ท่วมแม้จะมีพายุมาอย่างหนัก จึงเป็นชัยชนะที่ใหญ่หลวงของมูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิชัยพัฒนาจึงมีผลงานสมชื่อ ”


-------------


แก้มลิง-คลองในหลวง-พระเมตตาสู่ชาวชุมพร


สถานที่ที่มีความสำคัญต่อชาวชุมพร โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมือง เป็นสถานที่ที่ได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริ์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ทรงริเริ่มในการสร้างสถานที่แห่งนี้ขึ้น คือ โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร


โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ จังหวัดชุมพร ตั้งอยู่ที่ บ้านเขาแรด หมู่ที่ 2 ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมีความเป็นมาเนื่องจากเกิดพายุโซนร้อน “ซีต้า” ระหว่างวันที่ 20 - 24 สิงหาคม 2540 ทำให้ประชาชนสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล อุทกภัยในจังหวัดชุมพรเกิดขึ้นจากข้อจำกัดของลักษณะภูมิประเทศด้านทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือจดภูเขาสูง เมื่อมีฝนตกที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอท่าแซะ และอำเภอเมืองจังหวัดชุมพร และอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง น้ำจะไหลจากบริเวณดังกล่าวผ่านพื้นที่บริเวณตัวเมืองชุมพรก่อนไหลลงสู่อ่าวไทยจึงทำให้มีน้ำท่วมขังในเขตตัวเมือง ชุมพร เมื่อเกิดพายุโซนร้อน “ซีต้า” มีน้ำท่วมขังในเขตตัวเมืองชุมพรสูง 2.20 เมตร เนื่องจากน้ำไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ทัน หลังจากเกิดอุทกภัยดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวชุมพร จึงได้มีพระราชกระแสรับสั่งให้ผู้อำนวยการกองงานส่วนพระองค์ (นายดิสธร วัชโรทัย) ตรวจสอบและ ศึกษาข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองชุมพร พบว่า มีพื้นที่ลุ่มทางตอนเหนือของเมืองชุมพร เรียกว่า “หนองใหญ่” ตั้งอยู่ที่ตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร มีสภาพภูมิประเทศและสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเหมาะสม อย่างยิ่งที่จะใช้พักน้ำก่อนการระบายลงสู่ทะเล เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับคลองหัววัง – พนังตัก สามารถรับน้ำและระบายน้ำลงสู่ทะเลได้โดยไม่ต้องผ่านเมือง แต่คลองนั้นยังตัน ไม่ได้ขุดให้ตลอดเหลือระยะทางอีกกิโลเมตรเศษ จึงได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระองค์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งให้สร้างประตูระบายน้ำ เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในหนองใหญ่ โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ผ่านมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ และพระราชทานชื่อว่า “ประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1" ปลายเดือนตุลาคม 2540 พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” ได้ก่อตัวขึ้นและเคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวไทย และคาดว่าจะขึ้นฝั่งที่บริเวณจังหวัดชุมพร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้จังหวัดชุมพรเร่งขุดคลองหัววัง - พนังตัก ที่ยังขุดไม่แล้วเสร็จเหลือระยะทาง1,460 เมตร บริเวณอ่าวพนังตัก หมู่ที่ 4 ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพรให้ทะลุเพื่อระบายน้ำจากตัวเมืองชุมพรลงสู่ทะเลโดยเร็วทันกับการขึ้นฝั่งของพายุไต้ฝุ่น “ลินดา” แต่ในการขุดคลองให้ทะลุดังกล่าวมีราษฎรส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบในการคมนาคม อีกทั้งช่วงเวลาดังกล่าวมีฝนตกอย่างต่อเนื่องจำเป็นต้องก่อสร้างทางลำลองเพื่อใช้เป็นทางเบี่ยงความยาวประมาณ 2,000 เมตร ซึ่งจังหวัดชุมพรได้มอบหมายให้สำนักงานโยธาธิการจังหวัดดำเนินการก่อสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้รับสั่งที่จะพระราชทานผิวจราจรลาดยางในถนนทางเบี่ยงดังกล่าว เพื่อไม่ให้ราษฎรของพระองค์ได้รับความเดือดร้อน สำนักงานโยธาธิการจังหวัดชุมพรได้ประมาณราคาผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลท์ติค เป็นเงิน 800,000 บาท ได้แจ้งผลการประมาณราคาผ่านกองงานส่วนพระองค์ ทันทีที่ได้แจ้งพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งว่า “การทำผิวจราจรลาดยางแบบแอสฟัลท์ติคนั้น น่าจะเหมาะสมกับการทำผิวจราจรในถนนเดิมที่มีพื้นทางแน่นดีอยู่แล้ว” สำนักงานโยธาธิการจังหวัดชุมพรได้กราบบังคมทูลผ่านกองงานส่วนพระองค์ถึงความจำเป็นที่ต้องทำผิวจราจรลาดยางแบบดังกล่าว เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องระยะเวลา ต้องเร่งดำเนินการให้เปิดใช้เส้นทางได้โดยเร็ว ไม่ให้ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ประกอบกับสภาพอากาศปิดมีฝนตกชุกอย่างต่อเนื่องเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการปฏิบัติงาน จากการถวายรายงานดังกล่าวพระองค์จึงชอบด้วยวิธีการ ทั้งได้พระราชทานพระราชทรัพย์ผ่านมูลนิธิราชประชา-นุเคราะห์ฯเพื่อทำผิวจราจรดังกล่าวและพระราชทานชื่อว่า “ถนนราชประชาร่วมใจ” แสดงให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระทัยใส่ในความเดือดร้อนของราษฎร ทั้งทรงมีพระปรีชาในด้านวิศวกรรมโดยแท้ เป็นความปิติแก่ผู้ปฏิบัติงานเร่งด่วนในครั้งนั้นอย่างหา ที่สุดมิได้ การขุดคลองหัววัง-พนังตักแล้วเสร็จในคืนวันที่ 2 พฤศจิกายน 2540 ก่อนที่พายุไต้ฝุ่น “ลินดา” จะเข้าฝั่งเพียง 1 วัน เมื่อพายุเข้าฝั่งได้ใช้ประตูน้ำราชประชานุเคราะห์ 1 ระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงทะเลผ่านคลองหัววัง - พนังตัก น้ำจึงไม่ท่วมตัวเมืองชุมพรและพื้นที่ใกล้เคียง

จะเห็นได้ว่าหนองใหญ่มีความสำคัญยิ่งต่อชาวชุมพรทั้งในด้านป้องกันอุทกภัยในฤดูมรสุม และเป็นแหล่งน้ำสำหรับเกษตรกรยามหน้าแล้ง ทางทีมท่องเที่ยวขอเริ่มนำท่านผู้อ่านไปชมแก้มลิงหนองใหญ่ก่อน สภาพพื้นที่จะเป็นบึงขนาดใหญ่ ปัจจุบันเทศบาลตำบลบางลึกได้พัฒนาพื้นที่เป็นสวนสาธารณะให้ประชาชนและผู้ที่สนใจพักผ่อนหย่อนใจ และเป็นสถานที่ออกกำลังกายของผู้รักสุขภาพด้วย มีโต๊ะหินให้นั่งเล่น มีเรือถีบให้เช่าเป็นการสันทนาการ จัดทำท่าน้ำไว้สำหรับให้อาหารปลาด้วย จากวันที่ทางทีมท่องเที่ยวไปที่หนองใหญ่ พบว่าได้รับความนิยมจากคู่บ่าว – สาว มาถ่ายพรีเวดดิ้งด้วย บรรยากาศร่มรื่น มีลมพัดโชยมาเรื่อยๆ เย็นสบาย เมื่อได้เวลาเราก็เดินทางมายังบริเวณศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ อยู่ในพื้นที่ของโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ ตามพระราชดำริ จะเป็นที่ตั้งของสะพานไม้เคี่ยม ที่ยาวถึง 500 เมตร ถือเป็นจุดชมวิวที่สวยงามอีกจุดหนึ่งของหนองใหญ่ ถ้าจะเดินข้ามสะพานไม้ใช้ความระมัดระวังด้วยนะครับ เพราะสะพานที่สร้างมานานเริ่มชำรุดไปตามกาลเวลา แต่ก็แนะนำให้ลองเดินไปชมบรรยากาศกันนะครับ ภายในศูนย์เรียนรู้ฯ มีแปลงนาสาธิตข้าวปลอดสารพิษกำลังตั้งท้องออกรวงงามสะพรั่ง แล้วเราก็เดินทางต่อมาชมแนวคลองหัววัง – พนังตัก คลองซึ่งสะท้อนถึงน้ำพระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีแก่ประชาชนจังหวัดชุมพร จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า “คลองในหลวง” ลำคลองที่ทอดยาวไว้ใช้ระบายน้ำออกสู่ทะเลที่อ่าวพนังตัก และเป็นแหล่งน้ำแจกจ่ายให้เกษตรกรยามแล้ง เราเดินทางเลียบริมคลองไปเรื่อยๆ พบกับเรือยาวจากส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่นำมาเตรียมความพร้อมและซ้อมเพื่อลงแข่งขันในงาน “วันสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงของเรา และการแข่งขันเรือยาวขึ้นโขนชิงธง ชิงถ้วยพระราชทานฯ ครั้งที่ 18” ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดชุมพร ระหว่างวันที่ 24 – 27 กันยายน 2558 ณ คลองในหลวง หัววัง – พนังตัก วันที่เราไปได้พบกับเรือยาวของเทศบาลตำบลท่ายางกำลังซ่อมแซมเพื่อลงแข่งขัน เห็นถึงการร่วมแรงร่วมใจของชาวชุมพรเป็นอย่างดี ทีมท่องเที่ยวเดินทางล่องมาเรื่อยๆ จนมาถึงปากคลองพนังตักในช่วงเวลาเย็น ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตริมคลองในส่วนปลายสุด เกือบทุกบ้านประกอบอาชีพประมงชายฝั่งและเลี้ยงปลาในกระชัง ลมทะเลเย็นสบายได้เห็นทัศนียภาพที่สวยงาม วิถีชุมชนใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายสร้างความประทับใจไม่น้อย ทั้งนี้จากแก้มลิงหนองใหญ่มาจนถึงคลองหัววัง – พนังตัก สายนี้ หล่อเลี้ยงประชาชนชาวชุมพรได้ใช้ประโยชน์และบรรเทาความเสียหายจากอุทกภัย จากสายน้ำพระราชหฤทัยของพระองค์ท่าน ดังคำที่กล่าวว่า “ด้วยพระเมตตาบารมี ชุมพรวันนี้สุขร่มเย็น”


ขอขอบคุณ @ แก้มลิง คลองในหลวง พระเมตตาสู่ชาวชุมพร - อบจ. ชุมพร , จาก“คลองหัววัง-พนังตัก” ถึง“หนองใหญ่” ชุมพรสุขร่มเย็นด้วยพระบารมี

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 2023
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง