สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

::: ระนอง ::: คอคอดกระ ภูเขาหญ้า กาหยูหวาน ธารน้ำแร่ มุกแท้เมืองระนอง

จะไปให้ถึง เกาะพยาม

by sator4u_team @30 มี.ค. 55 12:12 ( IP : 101...192 ) | Tags : ท่องเที่ยวและกิจกรรม
photo  , 640x471 pixel , 44,343 bytes.

ถึงแม้ว่าหน้าร้อนนี้ในปีนี้ จะเดินทางมาเยือนช้ากว่าที่คิด แต่ความร้อนก็ได้เพิ่มทวี เป็นรางวัล(ที่ไม่อยากได้)ให้กับเราไปด้วย

หน้าร้อนแบบนี้ จะเที่ยวทั้งที แหล่งท่องเที่ยวทางทะเล ดูจะเป็นที่ฮิตติดลมบนมากกว่าที่อื่น ถึงแม้ว่าแดดที่ทะเลจะเพิ่มความหมองคล้ำให้กับผิวหน้าและผิวกายของเราไปบ้าง แต่ถ้าเทียบกับความสวยงามของทะเลหน้าร้อนแล้ว บวก ลบ คูณ หาร ออกมาก็ยังถือว่าได้กำไร

"เกาะพยาม" จ.ระนอง เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหน้าเก่า ที่เราอยากนำมาพรีเซ้นต์ใหม่ ด้วยเหตุผลที่ว่า "เกาะพยาม" แห่งนี้ ยังสวย สงบ และยังคงวิธีชีวิตของชาวเกาะพยามให้เราได้เห็นอยู่ทุกตารางของพื้นที่บนเกาะ และแม้ว่า เกาะพยาม จะถูกพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมานานแล้ว แต่ชื่อของเกาะพยาม ก็ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักมากนัก หรือเรียกว่ายังไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ว่า "เกาะพยาม" แห่งนี้ยังไม่เจริญด้วยวัตถุมากพอก็เป็นได้

"เกาะพยาม" เป็นเกาะขนาดใหญ่ประกอบด้วยภูเขาสูง ปกคลุมด้วยป่าดิบชื้น บนเกาะมีชุมชนขนาดใหญ่ตั้งอยู่ บริเวณรอบๆเกาะ มีปะการังที่สวยงามนานาชนิด สามารถดำน้ำดูปะการังได้ทางทิศตะวันตกของเกาะ มีนกที่น่าสนใจมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกแก๊ก นกย้ายถิ่นจะเข้ามาในช่วงฤดูหนาว หรือนกเงือก ที่นับวันจะหาดุได้ยาก นอกจากนั้น เกาะพยาม ยังมีอ่าวน้อยใหญ่เป็นบริวารมากมาย ไม่ว่าจะเป็น อ่าวเขาควาย อ่าวใหญ่ อ่าวแม่หม้าย(อ่าวมุก) อ่าวกวางปีบ อ่าวไผ่ ฯลฯ

ส่วนที่มาของชื่อ "เกาะพยาม" หรือ "เกาะพยาม" ตามภาษาชาวบ้านนั้น ก็มีตำนานที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เรื่องของการเดินทางมาที่เกาะ ในสมัยก่อน การเดินทางยังไม่สะดวกเท่าปัจจุบัน เรือโดยสารมีเพียงวันละเที่ยวเท่านั้น ส่วนขากลับ ไม่มีท่าเรือโดยสาร ซึ่งถ้าอยากจะกลับขึ้นฝั่งในเมือง ก็ต้องอาศัยโบกไม้ โบกมือ ขอติดเรือที่ผ่านไปมา เรียกว่าต้องใช้ความ "พยายาม" อย่างมากในเรื่องของการเดินทาง จึงเป็นที่มาของ "เกาะพยาม" หรืออีกตำนาน เล่าว่า เมื่อก่อน "เกาะยาม" แห่งนี้เคยเป็นฟาร์มมุกของนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น และเนื่องจากกลัวว่าจะมีขโมยมาลักหอยมุกไป จึงต้องจ้างชาวบ้านบนเกาะให้มาเป็นยาม ทำให้ชาวบ้านเรียกเกาะแห่งนี้ว่า "เกาะยาม" แต่ไม่ว่าจะเรียกว่าอะไร ก็ไม่ถือว่าผิดกติกา

หนุ่มเดทร็อค จากกรุงเทพฯ เล่าให้เราฟังว่า ก่อนที่จะย้ายมาเปิดร้านขายเครื่องดื่มที่เกาะพยามแห่งนี้ เคยเปิดร้านอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวมาแล้วมากมาย แต่ด้วยความที่แหล่งท่องเที่ยวเล่านั้น เริ่มเจริญ เป็นที่รู้จัก และความเป็นธรรมชาติที่มีเริ่มลดน้อยลงแล้ว ก็จะย้ายไปหาเกาะอื่นที่สงบกว่าอยู่ ซึ่งหลังจากที่เกาะสมุย เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว เขาก็ย้ายมาตั้งหลักอยู่ที่เกาะพยามแห่งนี้

"เห็นสวยๆ แบบนี้ เมื่อก่อนสวยกว่านี้อีก เพราะว่าคนยังไม่เยอะเท่านี้ คนบนเกาะก็น่ารัก มีเงินหนึ่งร้อยบาทสามารถซื้ออาหารทะเลสดๆ ได้เป็นลังจากชาวมอแกนที่อาศัยอยู่ท้ายเกาะ เกาะพยามมีความเป็นธรรมชาติสูง ขนาดนั่งทานข้าวยังมีนกเงือกบินโฉบมาให้เห็นอยู่บ่อย ๆ แต่เดียวนี้แทบจะไม่มีเลย" หนุ่มเดทร็อค ที่อยากเป็นชาวเกาะบรรยายสรรพคุณของที่นี่ให้เราฟัง ในฐานะคนต่างถิ่นเหมือนกัน


แล้วที่ "เกาะพยาม" หรือ "เกาะยาม" แห่งนี้ มีอะไรให้เราได้เที่ยวชมบ้าง

ส่วนไกด์กิตติมศักดิ์ของการเดินทางในทริปนี้ ก็ได้คนคุ้นเคยในพื้นที่อย่าง อ.ชุมทาง จินดาโชติ และ "พี่เพลิน" คุณสีรุ้ง วอร์สเซลมานส์ รวมทั้งคุณลุงแท็กซี่ชาวเกาะทั้งหมด ที่พาเราซิ่งไปเที่ยวรอบเกาะได้ตามเวลาที่มีอยู่อย่างน้อยนิด ด้วยมอเตอร์ไซค์สองล้อคู่ใจ ด้วยเหตุผลที่ว่า บนเกาะพยามแห่งนี้ไม่มีรถยนต์ให้ขับเหมือนเกาะอื่น ๆ

ซึ่งระหว่างทางที่เราเดินทางไปรอบๆเกาะนั้น จะเห็นว่ามีผลของเม็ดมะม่วงหินพานต์ ล่วงอยู่ตามพื้นมากมายเต็มไปหมด ไม่ไม่มีใครสน เพราะเม็ดมะม่วงหินพานต์ หรือ กาหยู ตามภาษาท้องถิ่นของที่นี่นั้น นับว่าเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของที่นี่ ด้วยขนาดเม็ดที่ใหญ่ และรสชาติที่หวานอร่อย แต่ด้วยความที่มีมาก แต่เก็บจำหน่ายไม่ทัน ทำให้ล่วงหล่นพื้นไปก่อนบ้าง เห็นแล้วก็เสียดาย

หากมาเกาะพยามแห่งนี้ แล้วจะไม่แวะมาสักการะ "พ่อตาหินขาว" เลย ก็เหมือนว่ามาไม่ถึง ด้วยลักษณะของหินขนาดใหญ่สีขาวบนหาดทรายที่ยื่นลงไปทะเล หรือจะเป็น "วัดเกาะพยาม" ซึ่งเป็นวัดที่ติดกับชายทะเล อีกทั้งยังนับว่าเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านที่เกาะพยามแห่งนี้เลยก็ว่าได้ มีโบสถ์ตั้งอยู่กลางทะเล แบบที่เรียกกันว่า "อุทกฺกเขปสีมา" คือ โบสถ์ที่สร้างอยู่ในน้ำ ตรงตามที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ในสมัยพุทธกาล ใครที่นั่งเรือโดยสารมายังเกาะ ก็จะเห็น "อุทกฺกเขปสีมา" นี้ได้แต่ไกล

จากนั้นเราก็จะไปเที่ยวกันต่อที่ "อ่าวแม่หม้าย" อ่าวที่มีตำนานเล่าต่อๆ กันว่า "ยายใจ" ชาวบ้านคนหนึ่งที่อาศัยอยู่บนเกาะนี้ ตั้งหน้าตั้งตารอสามีที่ออกเรือไปทำประมง เวลาผ่านไปหลายปี สามีก็ไม่มีวี่แววว่าจะกลับมา ยายใจจึงกลายเป็นแม่หม้าย และตรอมใจจนตาย

ส่วนที่อ่าวแม่หม้ายแห่งนี้ นับเป็นประตูใหญ่สู่เกาะพยาม เพราะว่าเรือโดยสารจะมาส่งนักท่องเที่ยวที่ท่าเรือบริเวณอ่าวแม่หม้าย อีกทั้งท่าเรือแห่งนี้ ยังเป็นศูนย์กลางทางการค้าของคนบนเกาะอีกด้วย

บริเวณอ่าวแม่หม้าย นอกจากจะมีชายหาดที่สวยงาม และสะพานที่ทอดยาว ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปถ่ายรูป ยังมีซากของเรือโบราณ และป่าชายเลน ที่นับว่ายังสมบูรณ์อยู่มาก ยังเห็นปลาว่ายทวนน้ำอยู่หลายฝูง ไม่ว่าจะเป็นปลากระบอก ปลาสลิดหิน ส่วนป่าชายเลนที่นี่ ก็ได้ความร่วมมือจากชาวบ้าน คนละไม้ คนละมือในการปลูกป่าเพิ่ม เพื่อให้ป่าชายเลนแห่งนี้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

จากนั้นเราไปซิ่งกันต่อที่ "อ่าวเขาควาย" ด้านท้ายเกาะ ส่วนชื่อที่ได้ก็มาจากลักษณะของอ่าว ที่มีชายหาดงุ้มเข้าเหมือนกับเขาควาย ส่วนความสวยงามนั้น ผิดกับลักษณะของเขาควายแน่นอน เพราะเท่าที่มองด้วยตาเปล่า จะเห็นหาดทรายสีขาว เนื้อทรายละเอียด น้ำทะเลเป็นสีเขียวตัดกับท้องฟ้าสีฟ้าสด ยามน้ำลงจะเห็นชายหาดที่ทอดยาวออกไปไกล และที่สำคัญเรายังได้เห็นปูลม ที่ไม่ใช่ลูกปูเหมือนกับทะเลบางแห่ง แต่เป็นพ่อปู ตัวบิ๊ก วิ่งกันให้เต็มหาด ซึ่งบริเวณรอบหาดยังสามารถดำน้ำดูปะการังได้อีกด้วย


คู่มือการเดินทาง

การเดินทางไปเกาะพยาม สามารถนั่งเรือโดยสาร โดยจะมีบริการนักท่องเที่ยวไปจาก ท่าเรือระนอง – เกาะพยาม 2 เที่ยว ในเวลา 09.00 น. และ 14.00 น. และเที่ยวกลับจากเกาะพยาม – ท่าเรือระนอง 2 เที่ยวเช่นกัน ในเวลา 08.30 น. และ 14.00 น. ราคา 150 บาท

ถ้าจะให้เร็วขึ้นมาหน่อย ก็ลองโดยสารเรือเร็วโดยจะมีบริการ จากเกาะพยาม – ท่าเรือระนอง เวลา 09.00 น. และ 13.30 น. และจากท่าเรือระนอง – เกาะพยาม เวลา 10.00 น. และ 14.30 น. โดยใช้เวลาเดินทางประมาณ 30 – 40 นาที ราคา 350 บาท

นอกจากนี้ ในบริเวณใกล้เคียงกับเกาะพยามยังมีเกาะอีกหลายแห่ง ซึ่งเป็นแหล่งตกปลา เช่น เกาะสินไห เกาะช้าง นักท่องเที่ยวสามารถติดต่อเช่าเหมาเรือจากปากน้ำระนอง ท่าเรือสะพานปลาได้เช่นเดียวกัน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานจังหวัดระนอง 0 7781 1123


ขอขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : http://travel.kapook.com/view620.html


สะตอฟอร์ยูสะตอฟอร์ยูดอทคอม (Sator4U.com FC) on Facebook

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 0859
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง