แซลอง มาจากคำว่า ชาร้อน หรือ ซีลอน

by sator4u_team @14 ม.ค. 57 14:13 ( IP : 180...89 ) | Tags : แลใต้

แซลอง มาจากคำว่า ชาร้อน หรือ ซีลอน ที่หมายถึงแหล่งที่มาของชาจากเกาะซีลอน ประเทศศรีลังกา รูปแบบการดื่มคล้ายๆกับโกปี คือ แซลองอ้อ คือชาดำร้อน แซลองนม คือชานมร้อน ซึ่งทั้งสองชนิด คนปักษ์นิยมดื่มร้อนๆไม่ใส่น้ำแข็ง ^^


 คำอธิบายภาพ : pic5584bff50eda1


วัฒนธรรมการบริโภค ชาชัก โกปี แซลอง เป็นลักษณะที่ค่อนข้างผสมผสานระหว่าง มาเลย์ อินโดนีเซีย และปักษ์ใต้ของไทย โดยที่แต่ละชนิดอาจมีชื่อเรียกคล้ายๆกัน แต่บางครั้งก็เรียกต่างกันออกไป แต่ทว่าเมื่อชงออกมาแล้วก็มีรสชาตที่คล้ายๆกัน อาจเบาหวาน หนักหวาน กินร้อนหรืออาจกินเย็นกันไปโดยที่ไม่มีใครลอกแบบของใครไป ซึ่งเราคงต้องมาศึกษากันไปในแต่ละชนิด ว่ามีที่มาที่ไปเช่นไร ดังนี้


1.) เตฮ์ตาเระค์ หรือ "ชาชัก"

มาจากคำว่า tea tarik ที ก็คือ ชา ส่วนตาเระค์เป็นภาษามลายู ที่หมายถึงการชักคะเย่อ คนไทยเรียกสั้นๆว่า ชาชัก ไม่อาจสันนิษฐานได้ว่าใครเป็นผู้คิดค้นการชักชา แต่อาจเดาคร่าวๆได้ว่า อาจมีการเทชาที่ชงเสร็จแล้วใส่ในภาชนะแล้วเผอิญว่าเทสูงสักนิดจึงเกิดฟอง จึงได้ทำต่อมาอีกหลายครั้ง ในที่สุดจึงเกิดการพัฒนารูปแบบเป็นท่าทางต่างๆ แต่ท้ายสุดก็สรุปที่จะต้องทำให้เกิดฟองที่ละเอียดที่สุดนั่นเอง ในที่นี้มีตำนานชาชักมาเล่าให้อ่านด้วยครับ


"ตำนานชาชัก"




ตำนาน "ชาชัก" เล่าขานกันว่า เกิดจากชายหนุ่มอิสลามชาวไทยที่เกิดอยู่ใกล้ตะเข็บชายแดน เขาใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าของร้านน้ำชา อยากมีงานทำ จึงเดินทางข้ามไปหางานทำในประเทศมาเลเซีย ที่ร้านน้ำชาแห่งหนึ่ง ณ ที่นั้นเขาได้พบกับลูกสาวแสนสวยของเจ้าของร้านก็เกิดความรัก แต่ก็ถูกกีดกันโดยพ่อแม่ของสาวเจ้า พร้อมทั้งคำสบประมาทแถมท้ายว่า "รอให้ชักชาได้ไม่ขาดสาย และฟาดโรตีให้เหมือนผีเสื้อบิน เหมือนที่พ่อของหญิงคนรักทำได้เสียก่อนแล้วค่อยมาสู่ขอลูกสาว" ด้วยแรงรักและความมุมานะ ที่อยากจะลบคำสบประสาท ทำให้เขาเพียรพยายามฝึกฝน การชักชาและฟาดโรตีด้วยความเพียรพยายามจนกระทั่งในที่สุด ความพยายามของเขาก็ทำให้เขาประสบความสำเร็จ จึงกลายเป็นชายหนุ่มคนหนึ่ง ที่มีฝีมือในการชักชาได้สวยงามและไม่ขาดสาย ฟาดโรตีได้แผ่กว้างและบินว่อน เสมือนท่วงทำนองขยับปีก ของผีเสื้อที่สวยงาม


ในที่สุดเขาก็สามารถชนะใจพ่อแม่ของสาวคนรักและได้ครองคู่อยู่กับเธออย่างมีความสุข และชายหนุ่มได้สัญญากับสาวคนรักในคืนนั้นว่า "พี่จะรักเธอให้เหมือนกับสายน้ำชา ซึ่งจะไม่มีวันขาดสาย" นี่คือที่มาของเครื่องดื่มชักกะเย่อ สืบทอดตำนานสายใยแห่งความรัก


ส่วนผสม : มีส่วนผสมระหว่างผงชาอัสสัมและผงชาซีลอนสำเร็จรูป+นมข้น+นมสด/นมแพะ ชงกับน้ำร้อนเดือด

วิธีการชง : เมื่อใส่ส่วนผสมน้ำชาที่ชงน้ำร้อนแล้ว นมสด นมข้นหวาน ตามสัดส่วนลงในกระบอกชา ซึ่งมี 2 กระบอก ผู้ชงชาหรือชักชาจะถือกระบอกชาไว้ในมือทั้ง 2 ข้าง ๆ ละใบ จากนั้นจะเทชาจากมือบนสู่มือล่าง เป็นการเทชากลับไปกลับมาระหว่างมือทั้งสองข้าง โดยให้มือที่ถือกระบอกชาด้านหนึ่งอยู่ระดับสูงเหนือศีรษะสุดปลายแขน


2.) โกปี

มาจากคำว่า coffee สำเนียงทางใต้เรียกว่าโกปิ๊ โกปี้ โกปี ตามท้องที่กันไป ความนิยมในโกปีนี้มีมากมายในทุกจังหวัดของภาคใต้ โดยเฉพาะโกปีอ้อ หรือกาแฟร้อน และโกปีนม หรือกาแฟใส่นม ซึ่งจะนิยมดื่มแบบร้อนมากกว่าการใส่น้ำแข็งเพื่อให้เย็น


3.) แซลอง

มาจากคำว่า ชาร้อน หรือ ซีลอน ที่หมายถึงแหล่งที่มาของชาจากเกาะซีลอน ประเทศศรีลังกา รูปแบบการดื่มคล้ายๆกับโกปี คือ แซลองอ้อ คือชาดำร้อน แซลองนม คือชานมร้อน ซึ่งทั้งสองชนิดมักนิยมกันที่ไม่ใส่น้ำแข็ง


 คำอธิบายภาพ : pic52d4e3a9ee1f0


ว่าไปแล้วเรื่องราวของชานั้นมีมายาวนานหลายพันปีที่เดียว โดยมีผู้กล่าวอ้างไว้ว่า การดื่มชาเริ่มขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน คาดว่าไม่น้อยกว่า 2,167 ปีก่อนคริสตกาล ตำนานการเริ่มต้นของ การดื่มชามีหลายตำนานบ้างก็กล่าวว่าจักรพรรดิเสินหนิงของจีน (Shen Nung) ค้นพบวิธีชงชาโดยบังเอิญ เมื่อพระองค์ทรงต้มน้ำดื่ม ใกล้ ๆ กับต้นชา ขณะรอคอยให้น้ำเดือดกิ่งชาได้หล่นลงในหม้อชา สักพักหนึ่งกลิ่นหอมกรุ่นก็โชยออกมาเมื่อพระองค์เอากิ่งชา ออกแล้วทรงดื่มก็พบว่า มันทำให้สดชื่น


จากประเทศจีน ชาได้ถูกเผยแพร่นำไปปลูกในประเทศต่างๆ ในเอเชีย เช่น ประเทศญี่ปุ่นได้เริ่มรู้จักและมีการนำชาเข้าญี่ปุ่นโดยพระชาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งที่เดินทางมาประเทศจีนกับเรือคณะทูต เพื่อมาศึกษาคำสอน ทางพระพุทธศาสนา และได้นำเมล็ดชากลับไปปลูกที่ Shingakn หลังจากนั้น การปลูกชาได้กระจายทั่วไป ในกาลต่อมาพระชาวญี่ปุ่นชื่อไอไซ (Eisai) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ การรักษาสุขภาพโดยการดื่มชา (Preserving Health in Drinking Tea) เป็นหนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับชาในประเทศญี่ปุ่น และได้พัฒนาขึ้นเป็นประเพณีการชงชาของญี่ปุ่นมาจนถึงปัจจุบันนี้


เรื่องราวของขามีความหลากหลายมากพอๆ กับประเภทของชา ที่เรารู้จักไม่ได้มีเฉพาะชาเขียวจากญี่ปุ่นเท่านั้นนะครับ ยังมีชาจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกแยะครับ


ในประเทศอินเดีย ช่วงศตวรรษที่ 18-19 บริษัท West India ได้นำเมล็ดชาจีนมาทดลองปลูกตามไหล่เขาหิมาลัย


ในทวีปยุโรป อังกฤษเป็นประเทศแรกที่รู้จักนำใบชามาใช้ประโยชน์โดยการนำใบชามาจากประเทศจีนในปี ค.ศ. 1657 บริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษได้เป็นผู้ผูกขาดกานนำเข้าชา และชาวอังกฤษก็ยอมรับการบริโภคชา ได้เร็วกว่าชาติอื่น ๆ โดยมีเซอร์โทมัส การ์ราเวย์ เป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมชาของอังกฤษ ต่อมานายทอมมี่ ลิปตัน และนายคาเนียล ทวินนิ่ง ได้จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตชายี่ห้อลิปตันหรือทวินนิ่งที่มีชื่อเสียงจนถึงปัจจุบันนี้


ในประเทศฝรั่งเศส ชาถูกยอมรับเป็นเครื่องดื่มในศตวรรษที่ 17 สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงเสวยชาเพื่อช่วยให้ ระบบย่อยอาหารดีขึ้น


สำหรับประเทศไทยเราก็มีประวัติการดื่มชาที่ยาวนานเหมือนกันนะครับคือเริ่มตั้งแต่สมัยสุโขทัยช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน พบว่าได้มีการดื่มชากันแต่ก็ไม่ปรากฏหลักฐานว่านำเข้ามาอย่างไร และเมื่อใด แต่จากจดหมายของท่านลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้กล่าวไว้ว่า คนไทยได้รู้จักการดื่มชาแล้ว โดยนิยมชงชาเพื่อรับแขก การดื่มชาของคนไทยสมัยนั้นดื่มแบบชาจีนไม่ใส่น้ำตาล สำหรับการปลูกชาในประเทศไทยนั้น แหล่งกำเนิดเดิมจะอยู่ตามภูเขาทางภาคเหนือของประเทศ โดยจะกระจายอยู่ในหลายจังหวัดแถบภาคเหนือ ที่สำคัญได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน ลำปางและตาก


ชาไม่ได้เป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติแท้ๆ เท่านั้น แต่ยังมีคุณประโยชน์มากมาย เช่นกัน ตลอดระยะเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา ชาวจีนได้บันทึกผลดีที่ชามีต่อร่างกายมนุษย์ และในปัจจุบันก็มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ยืนยันประโยชน์ของชาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากชาจะเป็นแหล่งรวมสารต้านอนุมูลอิสระจากธรรมชาติ ที่จะช่วยป้องกันร่างกายจากการเสื่อมโทรมลง เพราะอนุมูลอิสระซึ่งอนุมูลอิสระนี้เองที่เป็นที่มาของการก่อให้เกิดโรคหัวใจ และโรคมะเร็ง นอกจากนี้ยังมีฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุ และเป็นของเหลวที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย ซึ่งจัดอยู่ในปริมาณของเหลวที่มนุษย์ควรบริโภคใน แต่ละวัน อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวมธาตุแมกนีเซียม ซึ่งจำเป็นต่อกาเจริญเติบโตของกระดูกในปริมาณมากด้วย


คำแนะนำเรื่องการดื่มชา




1) สำหรับผู้ที่นิยมดื่มน้ำชาร้อนๆ สารสำคัญที่เป็นประโยชน์คือ ‘คาเทคชินส์’ จะถูกความร้อนทำลายไปเกือบหมด คงเหลือแต่ความหอมและรสชาติ ถ้าต้องการให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายแต่ยังนิยมชาร้อนๆ ควรดื่มน้ำชาที่เข้มข้น เช่นเดียวกับคนจีนแต้จิ๋ว ที่นิยมชงชาจีนรสเข้มข้นในถ้วยชาใบจิ๋วคล้ายกับการดื่มกาแฟเอ็กซ์เพรสโซ่ ความเข้มข้นของใบชาจะทำให้มีปริมาณสารคาเทคชินส์ที่เข้มข้น และแม้ว่าสารเหล่านี้จะสลายตัวไปบางส่วนเมื่อโดนความร้อนจากน้ำร้อน แต่จะยังคงมีบางส่วนที่หลงเหลืออยู่ ที่พอจะให้ประโยชน์ต่อสุขภาพได้บ้าง


2) ชาเขียวหรือสารสกัดจากใบชาสด หากนำมาเตรียมเป็นเครื่องดื่มแช่เย็น ความเย็นจะช่วยรักษาคุณค่าของสารสำคัญในใบชาไว้ได้ดี อย่างไรก็ตามหากขบวนการผลิตเครื่องดื่มชาเขียวต้องผ่านขบวนการต้มหรือทำให้ร้อนในขบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ก่อนบรรจุลงในขวด ปริมาณสารสำคัญในน้ำชาก็จะถูกทำลายไปเช่นกัน


3) การดื่มน้ำชาไม่ว่าจะชาร้อนหรือชาแช่เย็น ไม่ควรแต่งรสด้วยนมทุกชนิด ไม่ว่าจะน้ำนมสด นมข้นหรือนมผง เพราะโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย วิธีการดื่มชาเขียวให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงควรดื่มน้ำชาล้วนๆ ไม่ควรปรุงแต่ง สำหรับผู้ที่ชื่นชอบชาเย็นใส่นม จะไม่ได้ประโยชน์จากชาเลย


4) ผู้ที่รับประทานวิตามินเสริม เช่น ธาตุเหล็ก เกลือแร่ หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมไปด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ไม่ให้ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ในกรณีที่ดื่มน้ำชาร่วมกับการรับประทานอาหาร แร่ธาตุต่างๆ จากผักใบเขียวหรือจากผลไม้ก็จะถูกสารสำคัญจากชาจับไว้หมดไม่ให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายเช่นกัน


5) โทษของการดื่มชาต่อร่างกายก็มีรายงานเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารสำคัญคือแทนนิน ซึ่งจะไปตกตะกอนโปรตีนและแร่ธาตุต่างๆ จากอาหารที่รับประทาน ทำให้ลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย ดังนั้นจึงมักจะมีคำแนะนำไม่ให้เด็กดื่มน้ำชาไม่ว่าจะเป็นชาเขียวแช่เย็นหรือชาร้อน เพราะจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารได้


6) ใบชายังมีองค์ประกอบที่ให้โทษต่อร่างกายที่ยังไม่ค่อยมีคนกล่าวถึงคือ มีองค์ประกอบของฟลูออไรด์ในปริมาณที่ค่อนข้างสูง สูงกว่าปริมาณในน้ำประปา การที่ร่างกายได้รับเข้าไปทุกวันจากการดื่มน้ำชาเป็นประจำ จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน โรคข้อ และโรคอื่นๆที่เกี่ยวกับกระดูก แต่ผู้ที่ดื่มไม่มาก ก็คงไม่ต้องกังวล


7) ใบชายังมีสารที่ไม่ดีต่อสุขภาพอีก คือ สารที่ชื่อว่า ‘ออกซาเรท oxalate’ แม้ว่าสารชนิดนี้จะมีอยู่น้อย แต่หากผู้ที่ชื่นชอบการดื่มชามากๆ และดื่มบ่อยๆ เป็นประจำ จะสะสมสารออกซาเรทในร่างกายได้ สารชนิดนี้มีรายงานว่ามีผลทำลายไต


8) ใบชามีสารคาเฟอีนในปริมาณสูง อาจสูงกว่าในเมล็ดกาแฟด้วยซ้ำไป เพียงแต่การดื่มน้ำชา สารแทนนินจากน้ำชาจะป้องกันหรือลดการดูดซึมของคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ฤทธิ์การกระตุ้นหัวใจและสมองน้อยกว่ากาแฟมาก

Relate topics

Post new comment

« 1335
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง