โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

“ทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่างจากตัวอำเภอปากพนังประมาณ 3 กิโลเมตร ก็พิจารณาว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า เป็นกุญแจสำคัญของโครงการฯ จะแก้ไขปัญหาตั้งแต่ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มและสามารถที่จะให้ประชาชนมีน้ำบริโภคและน้ำทำการเกษตร”



 คำอธิบายภาพ : 10011


ลุ่มน้ำปากพนัง...ตำนานเมืองอู่ข้าว อู่น้ำ ที่พลิกฟื้นกลับมามีชีวิตอีกครั้งด้วยพระเมตตา



ในอดีตนั้น “ลุ่มน้ำปากพนัง” เป็นแหล่งปลูกข้าวที่สำคัญของภาคใต้ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรืองในทุกๆ ด้าน จนเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม “เมืองแห่งอู่ข้าว อู่น้ำ” แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมๆ กับความต้องการใช้น้ำอุปโภคบริโภคซึ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ในขณะที่ป่าไม้อันเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารกลับลดลงอย่างรวดเร็วด้วยสาเหตุจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ทำให้ “ลุ่มน้ำปากพนัง” ซึ่งครอบคลุมพื้นที่รวม 13 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของจังหวัดพัทลุง และจังหวัดสงขลา รวมพื้นที่ประมาณ 1.9 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่นากว่า 500,000 ไร่ ต้องพบกับปัญหาน้ำจืดขาดแคลน น้ำเค็มรุกล้ำ น้ำเปรี้ยวและน้ำเสียคุกคาม เป็นเหตุให้ชาวลุ่มน้ำปากพนังต้องเผชิญปัญหาผลผลิตตกต่ำ ทำนาไม่ได้ผล แหล่งประมงที่เคยอุดมสมบูรณ์ก็แทบจะไม่มีกุ้งหอยปูปลาให้ชาวบ้านจับมายังชีพยามขาดแคลน ประชาชนโดยรวมมีฐานะยากจนลงเป็นลำดับ อดีตที่เคยรุ่งโรจน์ของพื้นที่และชุมชนกลับอับจนหม่นมืดไร้ความหวังจนแทบจะกลายเป็นตำนานที่ไม่มีผู้ใดอยากจดจำ


 คำอธิบายภาพ : LaumNamPakPaNang-62


แต่ด้วยพระราชปณิธานอันแน่วแน่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชและพื้นที่ใกล้เคียง พระองค์ทรงศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด จนได้บทสรุปออกมาเป็นแนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังพระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องยาวนานนับตั้งแต่ พ.ศ. 2521 จนเกิดโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2536 โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาตามแนวพระราชดำริ สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้


* ก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนังเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อการเกษตรและการอุปโภคบริโภค


* แก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ทำกินของราษฎร ด้วยการขุดลอกคลอง พร้อมทั้งก่อสร้างประตูระบายน้ำและอาคารควบคุมปากคลอง เพื่อระบายน้ำจากแม่น้ำปากพนังออกทะเลโดยเร็วที่สุดกรณีเกิดอุทกภัย


* กำหนดแนวเขตที่ชัดเจนและเหมาะสมเพื่อแยกพื้นที่น้ำจืดและพื้นที่น้ำเค็มออกจากกันให้แน่นอน พร้อมทั้งก่อสร้างอาคารบังคับน้ำและจัดระบบชลประทานน้ำเค็มที่มีประสิทธิภาพ


* ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือฝายทดน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรเพื่อการอุปโภคบิโภค และช่วยบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ตอนล่าง


ล่วงมากว่า 2 ทศวรรษแห่งการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ได้ผลิดอกออกผลอย่างงดงาม สำเร็จเป็นความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับการพลิกฟื้นให้คืนกลับสู่สภาพที่เหมาะสมในการดำรงชีพ ผืนดินที่เคยแห้งผากกลับชุ่มดำพร้อมสำหรับการเพาะปลูก ระบบนิเวศที่เคยผิดเพี้ยนเริ่มปรับตัวเข้าสู่ความสมดุลส่งสัญญาณให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ หวนคืนถิ่นเดิม เหนือสิ่งอื่นใด ด้วยพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากจะพระราชทานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันยังประโยชน์สูงสุดต่อพสกนิกรในพื้นที่โดยรอบแล้ว พระองค์ยังได้ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความพอเพียงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในหัวใจประชาชนให้สามารถก้าวพ้นวิกฤตนานา ตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินจนตั้งตัวได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นโดยลำดับ วันนี้ชาวปากพนังล้วนภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งลุ่มน้ำปากพนัง...ลุ่มน้ำที่จะไม่มีวันเหือดแห้ง...ลุ่มน้ำที่เปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


 คำอธิบายภาพ : pic5801e9a718c38pic5


โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หมู่ 5 ตำบลหูล่อง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช



ลุ่มน้ำปากพนัง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  ครอบคลุมพื้นที่รวม 13 อำเภอ คือ พื้นที่ทั้งหมดของอำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอชะอวด อำเภอร่อนพิบูลย์ อำเภอจุฬาภรณ์ พื้นที่บางส่วนของอำเภอลานสกา อำเภอพระพรหม และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของอำเภอควนขนุน อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา รวมพื้นที่ประมาณ 1.9 ล้านไร่ เป็นพื้นที่นากว่า 500,000 ไร่ มีประชากรประมาณ 600,000 คน อดีตขอบลุ่มน้ำแห่งนี้เคยเป็นพื้นที่ลุ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเพาะปลูก มีการทำนามากที่สุดโดยอาศัยน้ำจากแม่น้ำปากพนังซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของลุ่มน้ำปากพนัง จึงเป็นแหล่งปลูกข้าวของภาคใต้ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางแห่งความเจริญรุ่งเรืองทุก ๆ ด้าน จนเป็นที่รู้จักกันของผู้คนอย่างกว้างขวาง ในนาม “เมืองแห่งอู่ข้าวอู่น้ำ”


เมื่อเวลาผ่านไป “ลุ่มน้ำปากพนัง” ที่เคยอุดมสมบูรณ์กลับมีปัญหาจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ความต้องการใช้น้ำย่อมมีปริมาณมากขึ้นด้วย แต่ป่าไม้ต้นน้ำลำธารกลับลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณน้ำจืดที่เคยดูดซับไว้แล้วทยอยปล่อยลงในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาในช่วงฤดูแล้งลดลงด้วย  น้ำจืดที่เคยมีใช้ปีละ 8-9 เดือน ลดลงเหลือปีละ 3 เดือนเท่านั้น และเนื่องจากลักษณะของแม่น้ำปากพนังมีระดับท้องน้ำอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลและมีความลาดชันน้อย เมื่อน้ำจืดทางด้านต้นน้ำมีปริมาณน้อย ทำให้น้ำเค็มสามารถรุกล้ำเข้าไปในแม่น้ำปากพนังและลำน้ำสาขาเป็นระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร  นอกจากนี้  ตอนใต้ของลุ่มน้ำปากพนังยังมี “พรุควนเคร็ง” ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มขนาดใหญ่ ประมาณ 200,000 ไร่ มีน้ำท่วมขังตลอดปี มีสารไพไรท์อยู่ในชั้นดิน ทำให้ดินมีสภาพเป็นกรด และมีปัญหาน้ำเปรี้ยว ราษฎรไม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรได้ รวมทั้งน้ำเน่าเสียจากการทำนากุ้งได้ไหลลงในลำน้ำต่าง ๆ จนไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการเพาะปลูกได้ กลายเป็นปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างชาวนาข้าวและชาวนากุ้งอีกด้วย  ปัญหาอุทกภัยในช่วงฤดูฝนเนื่องจากมีปริมาณฝนตกมาก แต่พื้นที่ลุ่มน้ำเป็นพื้นที่ลุ่มราบแบน มีความลาดชันน้อย อุทกภัยมักจะเกิดในช่วงน้ำทะเลหนุนสูง ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ยาก จึงทำความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นบริเวณกว้าง


น้ำจืดขาดแคลน-น้ำเค็ม-น้ำเปรี้ยวและน้ำเสีย จึงเป็นปัญหาที่ชาวลุ่มน้ำปากพนังต้องเผชิญ การทำนาไม่ได้ผล ผลผลิตต่ำ ราษฎรมีฐานะยากจน การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตามแนวพระราชดำริจึงเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ให้กลับคืนสู่ลุ่มน้ำปากพนังดังเช่นในอดีต


 คำอธิบายภาพ : 430


พระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อช่ววยเหลือราษฎรหลายครั้ง



ครั้งแรก เมื่อเดือนธันวาคม 2531 หลังจากเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน


ครั้งต่อมาเมื่อวันที่ 9 และ 11 ตุลาคม 2535 ณ สถานีสูบน้ำโคกกูแว ตำบลพร่อน อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส และสถานีสูบน้ำบ้านตอหลัง อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชดำริ ให้กรมชลประทานพิจารณาก่อสร้างประตูระบายน้ำปากพนัง ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อป้องกันน้ำเค็มรุกล้ำและเก็บกักน้ำจืด พร้อมกับการก่อสร้างระบบคลองระบายน้ำเพื่อบรรเทาปัญหาน้ำท่วม และระบบกระจายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง


ครั้งสำคัญที่สุด เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2536 ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้คณะกรรมการบริหารโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ได้พระราชทาน พระราชดำริเพิ่มเติมความว่า “...ทำประตูน้ำที่ปากแม่น้ำห่างจากตัวอำเภอปากพนังประมาณ 3 กิโลเมตร ก็พิจารณาว่าจะแก้ปัญหาทั้งหมด ซึ่งหมายความว่า เป็นกุญแจสำคัญของโครงการฯ จะแก้ไขปัญหาตั้งแต่ น้ำแล้ง น้ำท่วม น้ำเค็มและสามารถที่จะให้ประชาชนมีน้ำบริโภคและน้ำทำการเกษตร... แม้ว่าประตูน้ำอันเดียวนี้จะไม่แก้ไขปัญหาทั้งหมด ซึ่งจะต้องสร้างหรือทำโครงการต่อเนื่อง หากแต่ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาทั้งหมด จากอันนี้จะทำอะไรๆ ได้ทุกอย่าง และแยกออกมาเป็นโครงการฯ...”











เพิ่มเติม ...


โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมชลประทาน

ศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมประมง

Relate topics

Post new comment

« 6492
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง