สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

"หมูหลุม" การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ ...เลี้ยงง่าย ต้นทุนต่ำ กำไรดี รายได้หมุนเวียน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

by sator4u_team @28 ม.ค. 58 22:09 ( IP : 113...159 ) | Tags : ทำมาหากิน
  • photo  , 400x300 pixel , 67,587 bytes.

การเลี้ยงหมูหลุม เป็นการเลี้ยงสุกรแนวทางธรรมชาติของประเทศเกาหลี โดยมีอาจารย์โชคชัย สารากิจ จากศูนย์เรียนรู้การพัฒนายั่งยืนภาคเหนือ ต.ป่างิ้ว อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เป็นผู้ริเริ่มนำหลักการเลี้ยงสุกรแนวทางธรรมชาติเข้ามาในประเทศไทย พ.ศ. 2543 มาทำการดัดแปลงวิธีการเลี้ยงให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ประเทศไทย จนมีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในภาคเหนือ


นับเป็นทางเลือกของเกษตรกร ผู้ที่มีความนิยมชมชอบการเลี้ยงสุกรโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เนื่องจากการเลี้ยงสุกรขุนที่เลี้ยงกันทั่วไปมีต้นทุนการเลี้ยงสูง วัตถุดิบอาหารสัตว์และปฏิชีวนะมีราคาแพง ส่งผลให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรประสบปัญหาขาดทุน การเลี้ยงสุกรแบบธรรมชาติ (หมูหลุม) เน้นการใช้วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่นเป็นหลัก หาง่าย ราคาถูก และสามารถนำวัสดุที่เหลือใช้ต่าง ๆ กลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อีก ทำให้ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสุกรได้ค่อนข้างมาก อีกทั้งเป็นการพึ่งพาอาศัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันระหว่างพืชกับสัตว์ กล่าวคือ เมื่อมีการปลูกพืชเกษตรกรสามารถใช้พืชหรือเศษพืชผัก และผลไม้ต่าง ๆ กลับมาทำเป็นอาหารหมักเลี้ยงหมูหลุมได้ ในทำนองเดียวกันพืชก็สามารถใช้ประโยชน์จากหมูหลุมได้เช่นกัน โดยการใช้วัสดุที่อยู่ในหลุมซึ่งถูกย่อยสลายและหมักโดยจุลินทรีย์กลุ่มที่ให้ประโยชน์ กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีนำไปใช้ปรับปรุงบำรุงดิน และเป็นอาหารของพืชได้ ช่วยทำให้การผลิตทั้งพืชและสุกรมีต้นทุนการผลิตลดน้อยลง การเลี้ยงหมูหลุมจะไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นของมูลสุกร น้ำเสีย และช่วยรักษาสภาพแวดล้อม หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีและปฏิชีวนะ ทำให้ได้เนื้อสุกรที่ปลอดภัยจากสารพิษไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและสามารถนำไปปรับใช้กับการทำการเกษตรแบบผสมผสานได้


ประโยชน์ของการเลี้ยง

1.) ลดต้นทุนค่าอาหารได้ถึง 70%

2.) ลดภาระการเลี้ยงหมูของเกษตรกร เนื่องจากไม่ต้องทำความสะอาดพื้นคอก

3.) ลดมลภาวะของเสียจากการเลี้ยงหมู " ไม่มีกลิ่นเหม็น ไม่มีแมลงวัน"

4.) ได้ปุ๋ยอินทรีย์

5.) สามารถใช้วัสดุต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติและในท้องถิ่น หาง่าย ราคาถูก

6.) ไม่ก่อให้เกิดปัญหากับสิ่งแวดล้อม อันเนื่องมาจากมูลสุกรและน้ำเสีย

7.) สามารถเลี้ยงในชุมชนได้ เนื่องจากไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นจากมูลและแมลงวัน

8.) ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการล้างทำความสะอาดคอกและบำบัดน้ำเสีย

9.) มีระบบการหมุนเวียนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในคอกหรือหลุม

10.) มูลและวัสดุในหลุมซึ่งถูกหมักและย่อยสลายโดยจุลินทรีย์กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดีนำไปเป็นปุ๋ยให้กับพืช ปรับปรุงดินบำรุงดิน หรือจำหน่าย

11.) ต้นทุนการผลิตต่ำโดยเฉพาะต้นทุนด้านอาหารสามารถลดได้ไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซ็นต์

12.) หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือยาปฏิชีวนะ ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค

13.) เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงและระบบเกษตรอินทรีย์


การสร้างโรงเรือนหรือคอกสำหรับเลี้ยงหมูหลุม

คอกหมูหลุมจะแตกต่างจากคอกหมูโดยทั่วไป คือ นอกจากมีผนังกั้นคอกแล้ว ยังขุดหลุมให้ลึกลงไปประมาณ 70 เซนติเมตร แล้วนำวัสดุที่ย่อยสลายได้ใส่ลงไปทดแทนดินที่ขุดออก ผนังกั้นคอกขึ้นอยู่กับเงินทุนที่ดำเนินการอาจจะใช้ไม้ไผ่ ไม้ระแนง ไม้ยูคาลิปตัส หรืออาจจะเป็นผนังอิฐบล็อกก็ได้ โดยเน้นใช้วัสดุที่หาได้ง่าย ราคาไม่แพงเกินไป หรือผนังอาจจะเป็นแบบไหนก็ได้ที่สามารถป้องกันไม่ให้สุกรออกจากคอกได้ มีความแข็งแรง และอายุการใช้งานนานพอสมควร ไม่ต้องซ่อมแซมบ่อยครั้งเกินไป การขุดหลุมขนาดของหลุมขึ้นอยู่กับจำนวนสุกรที่จะเลี้ยง โดยกำหนดให้สุกร 1 ตัวใช้พื้นที่เลี้ยงตั้งแต่เริ่มจนถึงขาย 1.2-1.5 ตารางเมตร การขุดหลุมจะขุดหลุมก่อนหรือหลังการสร้างโรงเรือนก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสะดวกในการทำงาน


วิธีการขุดหลุม

1.) วัดความยาวจากแนวเสาโรงเรือน ซึ่งจะเป็นแนวเดียวกันกับการทำผนังกั้นคอก วัดเข้าไปด้านในทั้งสี่ด้าน ๆ ละ 30 เซนติเมตร แล้วทำการขุดลงไปให้ลึก 70 - 90 เซนติเมตร (ตื้นกว่านี้ก็ได้)


 คำอธิบายภาพ : 77100967_0_20130902-101422


 คำอธิบายภาพ : mulum1


2.) แบ่งครึ่งขอบหลุมส่วนที่เหลือ ทั้งสี่ด้านและทำการขุดให้ลึกลงไป 30 เซนติเมตร ขุดเป็นรูปคล้ายตัวแอล (L)

3.) ใช้อิฐบล็อกก่อบนรูปตัวแอล (L) ทั้งสี่ด้าน หรืออาจจะใช้ไม้แบบตีแบบและเทคอนกรีตก็ได้ เพื่อทำเป็นเล็บคอนกรีตลงไปตามขอบหลุมเพื่อป้องกันไม่ให้สุกรใช้ปากขุดขอบหลุมพัง

4.) เทพื้นคอนกรีตทับหลังตามแนวที่จะทำผนังกั้นคอกให้ครบทุกด้าน

5.) ดินที่ขุดออกให้เก็บไว้นำไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ เพื่อนำกลับใส่ลงไปในหลุมเช่นเดิม


 คำอธิบายภาพ : p05  คำอธิบายภาพ : p06  คำอธิบายภาพ : p07


การเตรียมพื้นที่คอกหมูหลุม

วัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุที่สามารถหาได้ง่าย ราคาถูก มีอยู่ตามธรรมชาติทั่วไปหรือเศษวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ก็สมาราถนำกลับมาใช้ได้อีก ช่วยทำให้ประหยัดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก วัสดุที่ใช้มีดังนี้คือ

1.) แกลบ ขี้เลื่อย หรือวัสดุทางการเกษตร ใบไม้แห้ง หญ้าแห้ง ฟางข้าวสับ เศษที่เหลือจากการเพาะเห็ด หรือขยะแห้งที่ย่อยสลายได้

2.) ดินแดงหรือดินที่ขุดออกจากหลุม

3.) ถ่านไม้

4.) เกลือเม็ด

5.) เชื้อราขาวที่ได้จากธรรมชาติที่อยู่ตามใต้ต้นไผ่ชนิดต่าง ๆ

6.) น้ำหมักจุลินทรีย์จากธรรมชาติทั้งจากพืชและสัตว์


ขั้นตอนและวิธีการทำ

1.) เตรียมหลุมให้ได้ตามขนาดและจำนวนสุกรที่จะเลี้ยง โดยให้มีความลึก 90 เซนติเมตร

2.) ชั้นที่ 1 (ชั้นล่างสุด) ใส่แกลบ ขี้เลื่อย หรือวัสดุอื่น ๆ ที่ย่อยสลายได้ ให้สูงประมาณ 35 เซนติเมตรหรือครึ่งหนึ่งของหลุม ถ้าขนาดหลุม กว้าง 3 ยาว 3 เมตร ลึก 70 เซนติเมตร จะใส่แกลบหรือขี้เลื่อยประมาณ 400 กิโลกรัม

3.) ชั้นที่ 2 ใส่ดินแดง หรือดินที่ขุดออกจากหลุม โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 หรือ 40 กก. ใส่ให้ทั่ว

4.) ชั้นที่ 3 ใส่ถ่านไม้โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 หรือ 40 กก. ถ่านไม้ควรทุบให้มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ใส่ให้ทั่วทั้งหลุม

5.) ชั้นที่ 4 ใส่เกลือเม็ดโดยใช้ 1 % ของชั้นที่ 1 หรือ 4 กก. โรยให้ทั่ว

6.) ชั้นที่ 5 ใส่มูลสัตว์แห้ง (มูลอะไรก็ได้) โดยใช้ 10 % ของชั้นที่ 1 หรือ 40 กก. ใส่ให้ทั่วทั้งหลุม

7.) ชั้นที่ 6 ใส่แกลบหรือขี้เลื่อยลงไปให้เต็มทั้งหลุมอย่าให้มองเห็นขอบหลุม

8.) เมื่อใส่วัสดุทุกชนิดครบทุกชั้นแล้ว ให้รดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์จากธรรมชาติทั้ง และเชื้อราขาว ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร ผสมในบัวเดียวกัน รดให้ชุ่ม

9.) เมื่อปฏิบัติทุกขั้นตอนเรียบร้อยแล้ว ทิ้งไว้ 4 วัน แล้วจึงนำหมูลงเลี้ยงได้เลย

10.) เมื่อนำหมูลงเลี้ยงแล้ว ให้ใช้น้ำหมักเชื้อจุลินทรีย์ตามข้อ 8 รดหรือราดตามตัวสุกรเพื่อล้างสิ่งปฏิกูลที่ติดมากับตัวสุกร

11.) ผสมน้ำหมักจุลินทรีย์ในน้ำดื่มเพื่อให้สุกรดื่มกิน อัตราส่วนตามที่ระบุในแต่ละชนิด

12 จัดสภาพแวดล้อมและโรงเรือนให้โปร่งและระบายอากาศได้ดี


 คำอธิบายภาพ : p08  คำอธิบายภาพ : p09  คำอธิบายภาพ : p10


การจัดการเลี้ยงดู

การนำลูกหมู ควนมีน้ำหนักตั้งแต่ 15-20 กก.
ในช่วงเดือนแรกให้ใช้อาหารเม็ดหมูอ่อนก่อน หลังจากนั้นเมื่อเป็นหมูรุ่น (น้ำหนัก 30-40 กก.) ค่อยเปลี่ยนเป็นอาหารผสมพวกรำ ปลายข้าว และผสมพืชหมัก เศษผักหรือผักต่าง ๆ ในท้องถิ่น
น้ำดื่มให้ใช้น้ำหมักสมุนไพร น้ำหมักผลไม้ อัตรา 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 10 ลิตร
ใช้น้ำหมักชีวภาพรดพื้นคอก สัปดาห์ละครั้งเพื่อช่วยลดกลิ่น
หากขี้เลื่อยหรือกลบยุบตัวลงให้เติมเข้าไปใหม่จนเสมอปากหลุม


สูตรอาหารหมักสำหรับหมูหลุม


วัตถุดิบ

1.) พืชสีเขียวหรือผลไม้ 100 กิโลกรัม

2.) น้ำตาลทรายแดง 4 กิโลกรัม

3.) เกลือเม็ด 1 กิโลกรัม


วิธีการทำ

1 นำผลไม้หรือพืชผักสีเขียวที่เหลือใช้จากครัวเรือนหรือการเกษตร เช่น หยวกกล้วย บอน ปอสา พืชสีเขียวหรือเศษผักต่าง ๆ นำมาสับให้ละเอียด 2 นำน้ำตาลทราบอดงและเกลือเม็ดโรยคลุกเคล้าให้เข้ากัน 3 เอาบรรจุลงในถังหมักโดยให้มีพื้นที่ว่างเหลือ 1 ใน 3 ส่วนของถัง ปิดด้วยกระดาษที่อากาศผ่านเข้าออกได้หมักไว้ 7 วัน ถ้าอากาศร้อน 5 วัน ก็ใช้ได้


วิธีการใช้

นำส่วนพืชหมักผสมกับรำข้าวอ่อนและปลายข้าวในอัตราส่วน พืชหมัก : รำอ่อน : ปลายข้าว : เท่ากับ 2 : 2 : 1 ให้หมูกินวันละ 2 มื้อ เช้า เย็น ส่วนน้ำที่ได้จากการหมักก็นำมารดคอกหมู เพื่อลดกลิ่นหมูได้








ที่มา @ หนังสือข้อมูลเทคโนโลยีเพื่อมการสนับสนุนภาคการผลิตฯ , สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง , ฐานเรียนรุ้และองค์ความรู้ทางการเกษตร สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 1266
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง