สงครามดอกกุหลาบ (Wars of the Roses) ...

by sator4u_team @12 ก.พ. 57 16:17 ( IP : 180...198 ) | Tags : คลังสมอง-น่ารู้-สัพเพเหระ
  • photo  , 368x360 pixel , 27,437 bytes.
  • photo  , 571x374 pixel , 124,955 bytes.
  • photo  , 640x360 pixel , 87,156 bytes.
  • photo  , 1000x700 pixel , 147,331 bytes.

สงครามดอกกุหลาบ (อังกฤษ: Wars of the Roses) เป็นชุดสงครามราชวงศ์ที่ผู้สนับสนุนราชวงศ์แพลนแทเจเนตสองสายที่เป็นคู่แข่งชิงราชบัลลังก์อังกฤษกัน ได้แก่ ราชวงศ์แลงแคสเตอร์และราชวงศ์ยอร์ก (ซึ่งสัญลักษณ์ตราประจำตระกูล คือ ดอกกุหลาบสีแดงและสีขาวตามลำดับ) ทั้งสองฝ่ายรบกันเป็นช่วงห่าง ๆ กันระหว่างปี 1455 ถึง 1485 แม้จะมีการสู้รบที่เกี่ยวข้องอีกทั้งก่อนหน้าและหลังช่วงนี้ สงครามดังกล่าวเป็นผลจากปัญหาทางสังคมและการเงินหลังสงครามร้อยปี ชัยชนะบั้นปลายเป็นของผู้เรียกร้องเชื้อสายแลงแคสเตอร์ค่อนข้างห่าง เฮนรี ทิวดอร์ ผู้กำราบพระเจ้าริชาร์ดที่ 3 พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ยอร์ก และอภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก พระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เพื่อรวมสองราชวงศ์ หลังจากนั้น ราชวงศ์ทิวดอร์ปกครองอังกฤษและเวลส์เป็นเวลา 117 ปี

เฮนรีแห่งโบลิงโบรกทรงก่อตั้งราชวงศ์แลงแคสเตอร์ขณะทรงราชย์ในปี 1399 เมื่อทรงถอดพระเจ้าริชาร์ดที่ 2 พระภราดร (ลูกพี่ลูกน้อง) จากราชสมบัติ พระราชโอรส พระเจ้าเฮนรีที่ 5 ยังทรงรักษาการอยู่ในราชสมบัติของตระกูลไว้ได้ แต่เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคต์ในปี 1422 พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ทายาทของพระองค์ เป็นทารก การอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของราชวงศ์แลงแคสเตอร์สืบมาจากจอห์นแห่งกอนต์ ดยุกที่ 1 แห่งแลงแคสเตอร์ พระราชโอรสที่ยังมีพระชนมชีพพระองค์ที่สามในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 สิทธิในราชบัลลังก์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 6 ถูกริชาร์ด ดยุคแห่งยอร์คคัดค้าน ผู้สามารถอ้างว่าสืบเชื้อสายจากไลโอเนลแห่งแอนต์เวิร์ป และเอ็ดมันด์แห่งแลงลีย์ ดยุกที่ 1 แห่งยอร์กพระราชโอรสที่ยังมียังมีพระชนมชีพพระองค์ที่สองและสี่ในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 3 ริชาร์ดแห่งยอร์ค ผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญของรัฐหลายตำแหน่ง ทะเลาะกับราชวงศ์แลงแคสเตอร์สำคัญ ๆ ในราชสำนักและกับมาร์กาเรตแห่งอ็องฌู พระมเหสีในพระเจ้าเฮนรีที่ 6 แม้เคยเกิดการปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างผู้สนับสนุนราชวงศ์ยอร์กและแลงแคสเตอร์มาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่การสู้รบเปิดเผยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1455 ที่ยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 1 ราชวงศ์แลงแคสเตอร์คนที่โดดเด่นหลายคนเสยชีวิต แต่ทายาทที่เหลือยังพยายาทกับริชาร์ด แม้จะมีการฟื้นฟูสันติภาพชั่วคราว มาร์กาเรตแห่งอ็องฌู ดลให้ราชวงศ์แลงแคสเตอร์คัดค้านอิทธิพลของเอิร์ลแห่งยอร์ค การสู้รบดำเนินต่ออย่างรุนแรงขึ้นในปี 1459 เอิร์ลแห่งยอร์คและผู้สนับสนุนของพระองค์ถูกบีบให้หนีออกนอกประเทศ แต่ผู้สนับสนุนที่โดดเด่นที่สุดของพระองค์คนหนึ่ง เอิร์ลแห่งวอริก บุกครองอังกฤษจากกาเลและสามารถจับพระเจ้าเฮนรีเป็นเชลยได้ที่ยุทธการที่นอร์แธมป์ตัน เอิร์ลแห่งยอร์คเสด็จกลับประเทศและเป็นผู้พิทักษ์อังกฤษ (Protector of England) แต่ทรงถูกปรามมิให้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ มาร์กาเร็ตและอภิชนแลงแคสเตอร์ผู้ไม่ยอมปรองดองประชุมกำลังทางเหนือของอังกฤษ และเมื่อเอิร์ลแห่งยอร์คเคลื่อนทัพขึ้นเหนือไปปราบ พระองค์กับเอ็ดเวิร์ด พระราชโอรสพระองค์ที่สอง ถูกปลงพระชนม์ทั้งคู่ที่ยุทธการเวคฟีลด์ในเดือนธันวาคม 1460 กองทัพแลงแคสเตอร์รุกลงใต้และจับพระเจ้าเฮนรีเป็นเชลยได้อีกในยุทธการที่เซนต์ออลบันส์ครั้งที่ 2 แต่ไม่สามารถยึดครองกรุงลอนดอนไว้ได้ และถอยกลับไปทางเหนือในเวลาต่อมา พระราชโอรสองค์โตของเอิร์ลแห่งยอร์ค เอ็ดเวิร์ด เอิร์ลแห่งมาร์ช ได้รับการประกาศเป็นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 พระองค์ระดมกองทัพราชวงศ์ยอร์คและได้ชัยเด็ดขาดที่ยุทธการที่โทว์ทันเมื่อเดือนมีนาคม 1461

หลังการลุกขึ้นต่อต้านของแลงแคสเตอร์ทางเหนือถูกกำราบในปี 1464 และพระเจ้าเฮนรีถูกจับเป็นเชลยอีกรั้ง พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทะเลาะกับเอิร์ลแห่งวอริก สมญา "ผู้สร้างกษัตริย์" (Kingmaker) ผู้สนับสนุนและที่ปรึกษาหลักของพระองค์ และยังแตกแยกกับพระสหายหลายคน และกระทั่งพระบรมวงศานุวงศ์โดยทรงสนับสนุนตระกูลของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ วูดวิลล์ซึ่งมีอำนาจขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งพระองค์ทรงอภิเษกสมรสด้วยอย่างลับ ๆ ทีแรก เอิร์ลแห่งวอริกพยายามยกน้องชาย จอร์จ ดยุกแห่งแคลเรนซ์ เป็นพระมหากษัตริย์ แล้วจึงฟื้นฟูพระเจ้าเฮนรีที่ 6 กลับสู่ราชสมบัติ จากนั้นสองปี พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ทรงได้รับชัยชนะสมบูรณ์อีกครั้งที่บาร์เนต (เมษายน 1471) ที่ซึ่งเอิร์ลแห่งวอริกถูกสังหาร และทูกสบรี (พฤษภาคม 1471) ที่ซึ่งเอ็ดเวิร์ดแห่งเวสต์มินสเตอร์ ทายาทแลงแคสเตอร์ ถูกประหารชีวิตหลังยุทธการ พระเจ้าเฮนรีถูกปลงพระชนม์ในหอคอยลอนดอนหลายวันจากนั้น ยุติลำดับการสืบราชสันตติวงศ์โดยตรงของแลงแคสเตอร์

จากนั้น บ้านเมืองค่อนข้างสงบอยู่พักหนึ่ง จนพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเสด็จสวรรคตกะทันหันในปี 1483 ริชาร์ด ดยุกแห่งกลอสเตอร์ พระอนุชาที่ยังมีพระชนมชีพของพระองค์ ทีแรกเคลื่อนไหวเพื่อกันมิให้ตระกูลวูดวิลล์ที่ไม่เป็นที่นิยมของพระมเหสีหม้ายของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเข้าร่วมในรัฐบาลระหว่างที่พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 5 พระราชโอรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด ยังทรงพระเยาว์ และจึงยึดราชบัลลังก์เป็นของตน โดยอ้างว่า การสมรสของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เฮนรี ทิวดอร์ พระญาติห่าง ๆ ของพระมหากษัตริย์แลงแคสเตอร์ผู้รับสืบทอดการอ้างสิทธิ์มาด้วย ชนะพระเจ้าริชาร์ดที่บอสเวิร์ธฟิลด์ในปี 1485 พระองค์ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าเฮนรีที่ 7 และอภิเษกสมรสกับเอลิซาเบธแห่งยอร์ก พระราชธิดาในพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 4 เพื่อรวมและประสานราชวงศ์ทั้งสอง


ชื่อและสัญลักษณ์

ชื่อ “สงครามดอกกุหลาบ” เชื่อกันว่ามิได้เป็นชื่อที่ใช้กันในระหว่างสงครามแต่ที่มาของชื่อมาจากตราประจำพระราชวงศ์ทั้งสอง กุหลาบแดงแห่งแลงแคสเตอร์ และ กุหลาบขาวแห่งยอร์ค สงครามดอกกุหลาบเป็นชื่อที่มานิยมเรียกกันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 หลังจากการพิมพ์หนังสือชื่อ “แอนน์แห่งไกเออร์สไตน์” (Anne of Geierstein) โดยเซอร์วอลเตอร์ สกอตต์ สกอตต์ใช้ชื่อที่มาจากบทละครเรื่อง “พระเจ้าเฮนรีที่ 6 ตอนที่ 1” โดยวิลเลียม เชกสเปียร์ซึ่งสองฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันเลือกดอกกุหลาบสีต่างกันที่วัดเทมเพิล

แม้ว่าดอกกุหลาบจะใช้บ้างบางครั้งระหว่างสงคราม แต่ผู้เข้าร่วมสงครามส่วนใหญ่แล้วจะติดตราของเจ้าของที่ดินผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นระบบที่ไม่เป็นทางการที่เจ้าของที่ดินสัญญาว่าจะปกป้องคุ้มครองผู้ที่ทำมาหากินในที่ดินโดยการให้ใช้ตราและสัญลักษณ์ การขยายตัวของระบบนึ้ทำให้อำนาจของพระมหากษัตริย์เสื่อมลงและเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดสงครามขึ้น ตัวอย่างของการใช้สัญลักษณ์ก็ได้แก่กองกำลังของพระเจ้าเฮนรีที่ 7 ที่บอสเวิร์ธที่ใช้ธงมังกรแดง และกองกำลังยอร์คที่ใช้สัญลักษณ์หมีขาว ความสำคัญของดอกกุหลาบมาเกิดขึ้นเมื่อพระเจ้าเฮนรีที่ 7 หลังจากยุติสงครามแล้วทรงรวมดอกกุหลาบแดงและขาวเป็นดอกกุหลาบแดงขาวดอกเดียวที่เรียกว่า “กุหลาบทิวดอร์”

นอกจากนั้นแล้วชื่อของทั้งสองราชวงศ์ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับเมืองยอร์กและเมืองแลงแคสเตอร์ หรือเทศมณฑลยอร์กเชอร์และแลงคาเชอร์แม้ว่าการแข่งขันคริกเกตหรือรักบีระหว่างสองเทศมณฑลนี้จะใช้คำว่า “สงครามดอกกุหลาบ” ก็ตาม อันที่จริงแล้วอาณาบริเวณที่เกี่ยวข้องกับดัชชีแลงแคสเตอร์ส่วนใหญ่อยู่ในกลอสเตอร์เชอร์ นอร์ธเวลส์ และเชสเชอร์ ขณะที่อสังหาริมทรัพย์และปราสาทของดัชชียอร์กตั้งอยู่ทั่วไปในอังกฤษแม้ว่ส่วนใหญ่จะอยู่ในภูมิภาคชายแดนเวลส์ระหว่างเวลส์และ


กองทัพและผู้ร่วมต่อสู้

สงครามเป็นการต่อสู้ระหว่างขุนนางหรือชนชั้นเจ้านาย ทหารผู้อยู่ในอารักขา และทหารรับจ้างจากต่างประเทศ ผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายก็ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับราชวงศ์เช่นอาจจะเป็นญาติพี่น้องสายเลือดเดียวกัน ความสัมพันธ์ที่เกิดจากการเสกสมรสระหว่างขุนนางกับราชวงศ์ใดราชวงศ์หนึ่งผู้ไต่เต้าขึ้นมามีอำนาจ และ การมอบหรือการยึดตำแหน่งขุนนางและที่ดิน ระบบอำนาจขุนนางที่เรียกว่า “livery and maintenance” เป็นระบบอย่างไม่เป็นทางการ ที่หมายความว่าขุนนางเป็นผู้มีอำนาจผู้ต้องให้การอารักขาให้แก่ผู้ติดตามเป็นการแลกเปลี่ยนกับการเป็นฝ่ายเดียวกันและการมีสิทธิที่จะใช้ตราของขุนนางเอง (“livery”) และเป็นผู้มีอำนาจในการมีกองทัพที่ต้องจ่ายเงินบำรุงรักษา (“maintenance”) ระบบที่ว่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้ลิดรอนอำนาจของพระมหากษัตริย์ลง อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อำนาจของพระมหากษัตริย์เสื่อมลงคือระบบที่เรียกว่าระบบศักดินาสวามิภักดิ์ (bastard feudalism) โดยนักประวัติศาสตร์รุ่นต่อมาซึ่งก็ยังไม่เป็นที่ตกลงกันว่าเป็นคำที่เหมาะสมหรือไม่ การมอบอำนาจให้แก้ผู้จงรักภักดีจากขุนนางเป็นเรื่องปกติแต่มิใช่เป็นการมอบที่เป็นไปตามระบบโครงสร้างเดียวกัน แต่เป็นการให้อำนาจต่อกันตามความพอใจของแต่ละบุคคลที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย

เมื่อพิจารณาถึงความจงรักภักดีทางสายเลือด การสมรส และความทะเยอทะยานในการแสวงหาอำนาจแล้วก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจว่าจะมีผู้เปลี่ยนข้างกันไปมากันอย่างเป็นเรื่องปกติ และการแพ้การชนะกันในยุทธการก็ขึ้นอยู่กับการทรยศ

กองทหารก็เป็นผู้ถืออาวุธของขุนนางที่ประกอบด้วยนายขมังธนูและทหารราบ บางครั้งก็จะมีทหารรับจ้างจากต่างประเทศเข้าร่วมพร้อมกับปืนใหญ่และปืนพก การใช้ทหารม้าเป็นไปอย่างจำกัดเช่นในการใช้ลาดตระเวน การต่อสู้ส่วนใหญ่ก็เป็นการต่อสู้ตัวต่อตัวของทหารราบ บางครั้งขุนนางก็อาจจะลงจากหลังม้าลงมาเข้าร่วมต่อสู้กับไพร่พล เพื่อเป็นแรงบันดาลใจ และเป็นการกำจัดข่าวลือที่ว่าผู้มีตำแหน่งสูงเมื่อเพลี่ยงพล้ำอาจจะถูกจับตัวไปเรียกค่าไถ่ขณะที่ทหารธรรมดาไม่มีค่าตัวแต่อย่างใดก็จะถูกสังหาร


บทสรุป

แม้ว่านักประวัติศาสตร์จะยังคงโต้แย้งกันถึงความกระทบกระเทือนของความขัดแย้งของสงครามดอกกุหลาบต่อชีวิตในยุคกลางของอังกฤษ แต่ที่แน่คือสงครามครั้งนี้เป็นสงครามที่สร้างความระส่ำระสายทางการเมืองและความเปลี่ยนแปลงทางดุลยภาพของอำนาจทางการเมือง สิ่งที่ได้รับผลกระทบกระเทือนมากที่สุดคือการสลายตัวของราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทที่มาแทนที่ด้วยผู้นำของราชวงศ์ทิวดอร์ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในอังกฤษเป็นอันมากในปีต่อๆ มา หลังจากสมัยของสมเด็จพระเจ้าเฮนรีแล้วราชวงศ์แพลนทาเจเน็ทที่ยังพอมีเหลืออยู่บ้างแต่ก็ไม่มีผู้ใดที่จะอ้างได้ว่ามีสิทธิในราชบัลลังก์โดยตรงได้ โดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงหนุนหลังให้ฝักฝ่ายย่อยขัดแย้งกันเอง การสงครามทำให้ขุนนางเสียชีวิตกันไปเป็นจำนวนมากที่เป็นผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมระบบศักดินาของอังกฤษ ที่ทำให้อำนาจของขุนนางอ่อนแอลงขณะเดียวกันอำนาจของชนชั้นพ่อค้าก็เพิ่มขึ้น การปกครองโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของอำนาจของราชวงศ์ทิวดอร์เป็นการสร้างเสริมให้ระบบพระมหากษัตริย์ของอังกฤษแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งเป็นการสิ้นสุดของยุคกลางของอังกฤษและก้าวเข้าสู่ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งการชี้ให้เห็นถึงความเสียหายอันใหญ่หลวงของสงครามดอกกุหลาบก็อาจจะเป็นเครื่องมือที่พระเจ้าเฮนรีที่ 7 ทรงใช้ในการช่วยแสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในการนำมาซึ่งความสันติในบั้นปลายก็เป็นได้ แต่จะอย่างไรก็ตามผลกระทบกระเทือนต่อชนชั้นพ่อค้าและแรงงานในการเป็นสงครามอันยืดเยื้อในการล้อมเมืองหรือปล้นเมืองก็ยังน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสหรือประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่ประสบกับสงครามอันยาวนาน แม้ว่าจะมีการล้อมที่เนิ่นนานอยู่บ้างเช่นการล้อมปราสาทฮาร์เล็ค แต่ก็เป็นการล้อมสถานที่ที่ไกลผู้ไกลคน ในบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นถ้ามีการสู้รบกันขึ้นก็จะสร้างความเสียหายอันไม่ควรค่าให้แก่ทั้งสองฝ่าย ฉะนั้นการต่อสู้ส่วนใหญ่จึงเป็นการต่อสู้ที่มีการนัดกันล่วงหน้าในการเลือกจุดที่จะทำการต่อสู้ (pitched battle) สงครามดอกกุหลาบไม่ได้ช่วยอิทธิพลของอังกฤษในฝรั่งเศสที่เริ่มลดลงอยู่แล้ว เมื่อเสร็จสิ้นสงครามดินแดนที่เคยได้มาระหว่างสงครามร้อยปีก็ไม่มีเหลืออยู่อีกเลยนอกไปจากคาเลส์ซึ่งก็มาเสียให้แก่ฝรั่งเศสระหว่างรัชสมัยของพระนางแมรี แม้ว่าพระมหากษัตริย์อังกฤษจะพยายามรณรงค์ในยุโรป แต่อังกฤษก็ไม่สามารถยึดดินแดนใดใดที่เสียไปคืนมาได้ ดัชชี และราชอาณาจักรต่างๆ ในยุโรปมีบทบาทโดยตรงต่อผลของความพยายามของอังกฤษ โดยเฉพาะเมื่อพระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสและดยุกแห่งเบอร์กันดียุยงฝักฝ่ายในอังกฤษให้มีความขัดแย้งกันเองโดยการสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินหรือทางการทหาร หรือให้ที่พำนักแก่พระราชวงศ์ ขุนนาง หรือผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์ผู้มาลี้ภัย ซึ่งเป็นสร้างสถานการณ์ที่ช่วยเพิ่มความแตกแยกขึ้นในอังกฤษซึ่งเป็นผลทำให้อ่อนแอลง เมื่อสงครามยุติลงก็เท่ากับเป็นการสิ้นสุดของกองทัพส่วนตัวของขุนนางผู้มีอำนาจ ระเจ้าเฮนรีผู้ทรงต้องการที่จะยุติความขัดแย้งระหว่างขุนนางก็ทรงพยายามโดยการควบคุมขุนนางอย่างไม่ให้ห่างพระหัตถ์ และไม่ทรงอนุญาตให้ขุนนางมีสิทธิในการรวบรวมกองกำลัง อาวุธ และ เลี้ยงกองทัพเพื่อที่จะไม่ให้สามารถก่อความขัดแย้งระหว่างกัน หรือลุกขึ้นมาต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ฉะนั้นอำนาจทางทหารของบารอนจึงลดถอยลงไปเป็นอันมาก และราชสำนักทิวดอร์อันมีอำนาจกลายเป็นสถานที่สำหรับการตัดสินข้อขัดแย้งระหว่างขุนนางด้วยอิทธิพลของพระเจ้าแผ่นดิน ระหว่างสงครามก็แทบจะไม่มีการยุบเลิกตำแหน่งขุนนางใดใด เช่นในระหว่าง ค.ศ. 1425 ถึง ค.ศ. 1449 ก่อนที่สงครามจะเริ่มขึ้นก็มีการยุบตำแหน่งขุนนางไป 25 ตำแหน่ง พอพอกับ 24 ตำแหน่งที่ยุบไประหว่างการต่อสู้ระหว่าง ค.ศ. 1450 ถึง ค.ศ. 1474[15] แต่ขุนนางที่มีความทะเยอทะยานสูงเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก มาถึงสมัยต่อมาก็แทบจะไม่มีขุนนางที่เต็มใจที่จะสละชีพในการต่อสู้ที่ไม่มีผลที่จะทราบได้แน่นอน


Cr. // วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

Relate topics

Post new comment

« 6215
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง