สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

อำลาเที่ยวสุดท้าย MD-11 จ่อปิดตำนาน บ.โดยสาร 'ไทรเจ็ต'

by sator4u_team @28 ต.ค. 57 15:46 ( IP : 180...237 ) | Tags : คลังสมอง-น่ารู้-สัพเพเหระ
  • photo  , 770x430 pixel , 40,702 bytes.

เครื่องบินโดยสาร เอ็มดี-11 ของสายการบิน KLM ได้จบสิ้นการบินเที่ยวสุดท้ายไปเมื่อ 25 ต.ค.57 ที่ผ่านมา ปิดฉากยุค บ.โดยสารลำตัวกว้างที่มี 3 เครื่องยนต์ (ไทรเจ็ต) ท่ามกลางความอาลัยของแฟนๆ ต่อเครื่องบินที่มีเครื่องยนต์บนหาง...

เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2557 ที่ผ่านมา สายการบินรอยัล ดัตช์ แอร์ไลน์ หรือ KLM : Royal Dutch Airlines (ปัจจุบัน คือ แอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม) ได้ประกาศยุติการให้บริการด้วยเครื่องบินโดยสารแบบ แมคโดนัลด์ ดักกลาส (ปัจจุบัน ควบรวมกิจการกับโบอิ้ง) เอ็มดี-11 (MD-11) เครื่องบินโดยสารไอพ่นแบบลำตัวกว้างแบบ 3 เครื่องยนต์รุ่นสุดท้าย และ KLM ยังเป็นสายการบินสุดท้าย ที่ให้บริการเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ด้วย เอ็มดี 11 โดยเที่ยวบินสุดท้าย คือ ไฟลท์ KLM672 จาก มอนทรีออล-อัมสเตอร์ดัม ด้วยเครื่องบินที่มีชื่อว่า ออเดรย์ แฮปเบิร์น ได้ลงจอดที่ท่าอากาศยานนานาชาติ สคิปโพล พร้อมกับพิธีฉลองด้วยการนำเครื่องบินผ่านอุโมงค์น้ำ


กัปตันของเที่ยวบินสุดท้าย กับเครื่องบิน MD-11 ชื่อ ออเดรย์ แฮปเบิร์น


หากดูแบบไม่ได้ลึกซึ้งอะไร นี่คือ การยุติการบินให้บริการแบบมีผู้โดยสารตามปกติ ที่จะมีการเปลี่ยนเครื่องบินใหม่มาทดแทน แต่ในอีกมุมหนึ่งที่ลึกซึ้งกว่า มันคือการปิดฉากของเครื่องบินโดยสารลำตัวกว้างแบบ 3 เครื่องยนต์ หรือ ไทรเจ็ต (Tri-Jets) อันเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องจารึกเอาไว้ในประวัติศาสตร์วงการการบินเลยทีเดียว


พิธีลอดอุโมงค์น้ำสำหรับเที่ยวบินสุดท้ายของ เอ็มดี-11 สายการบิน KLM


จุดกำเนิดของเครื่องบินแบบ 3 เครื่องยนต์รุ่นนี้ ย้อนกลับไปในช่วงปี 1985 เมื่อบอร์ดบริหารของบริษัทแมคโดนัลด์ ดักกลาส ผู้ผลิตเครื่องบินยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อนุมัติแบบโครงการเครื่องบินโดยสารลำตัวกว้าง รุ่นใหม่ ต่อจาก ดีซี-10 (DC-10) ต่อมาโครงการได้เริ่มขึ้นในปี 1990 เป็นการนำเอาดีไซน์ของเครื่องบิน ดีซี-10 รุ่นก่อนหน้ามาต่อยอด เพื่อให้สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ประมาณ 340 ที่นั่ง ใน 3 ชั้นโดยสาร และใช้ 3 เครื่องยนต์ เพื่อความสามารถในการบินข้ามทวีปได้ เพราะสมัยนั้นเครื่องยนต์ที่มีใช้อยู่แรงขับยังไม่สูงเท่ากับเครื่องยนต์เครื่องบินในยุคปัจจุบัน ที่เมื่อเทียบกันแล้วให้แรงขับมากกว่าถึงเกือบ 2 เท่า โดยใช้แค่ 2 เครื่องยนต์ ทำให้ยุคนั้นเครื่องบินที่จะบินข้ามทวีปได้ จำเป็นต้องมีมากกว่า 2 เครื่องยนต์ เพื่อให้มีแรงขับรวมมากพอจะบินข้ามทวีป ด้วยน้ำหนักโหลดเต็มพิกัด ดังเช่น โบอิ้ง 747 ที่มี 4 เครื่องยนต์ รวมทั้ง ดีซี-10 และ ล็อคฮีท แอล-1011 ไทรสตาร์


แมคโดนัลด์ ดักกลาส เอ็มดี-11 (MD-11)


หลังจากปั้นโครงการมาได้สักระยะ จนในที่สุดแมคโดนัลด์ ดักกลาส ก็สร้างเครื่องบิน เอ็มดี-11 ลำแรกสำเร็จ โดย MD-11 ลำแรกออกจากสายการผลิตของโรงงานในเมืองลองบีช แคลิฟอร์เนีย เมื่อปี 1990 ทาง แมคโดนัลด์ ดักกลาส พัฒนาออกมาเป็น 3  รุ่นให้เลือกใช้งาน ได้แก่ แบบ Passenger สำหรับโดยสารอย่างเดียว แบบ Combi ที่ใช้ทั้งขนสินค้าและโดยสาร และแบบ Freighter หรือ เครื่องบินขนส่งสินค้า ในระยะแรกมีสายการบินและบริษัทเอกชนที่ให้ความสนใจสั่งซื้อ MD-11 0kd แมคโดนัลด์ ดักกลาส จำนวน 52 ลำและอีก 40 ลำเป็นออปชั่นซื้อเพิ่ม อาทิ สายการบินอลิตาเลีย สายการบินดรากอนแอร์ บ.เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส สายการบินฟินแอร์ สายการบินโคเรียนแอร์ สายการบินเอสเอเอส (SAS) สายการบินสวิสแอร์ สายการบินวาริก และ การบินไทย ที่เคยนำมาให้บริการในปี 2534-2549 และขายต่อให้กับยูพีเอสไป ส่วน KLM ไม่ได้เป็นลูกค้าแต่แรกเริ่ม เช่นเดียวกับเจแปนแอร์ไลน์ (JAL)


เอ็มดี -11 เข้าเทียบหลุมจอดจบการเดินทางเที่ยวบินสุดท้าย ณ ท่าอากาศยานสคิปโพล กรุงอัมสเตอร์ดัม

อย่างไรก็ตาม เส้นทางของเอ็มดี-11 ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันถูกสร้างขึ้นมาทั้งหมดเพียง 200 ลำ เพราะมันออกมาในช่วงที่บริษัทคู่แข่งอย่างโบอิ้งเริ่มนำเสนอ เครื่องบินรุ่นใหม่ที่บินได้ไกล บรรทุกผู้โดยสารได้พอๆ กัน แต่ประหยัดเชื้อเพลิงมากกว่า เช่น โบอิ้ง 767-400ER และการมาของโบอิ้ง 777 ส่วนฝั่งแอร์บัส ก็นำเสนอ แอร์บัส เอ340 ที่เป็นเครื่องบินลำตัวกว้าง 4 เครื่องยนต์ สำหรับการบินในเส้นทางข้ามทวีปแบบไม่หยุดพัก และแอร์บัส เอ330 ที่ออกมาตีตลาดของโบอิ้ง 777 แต่ก็กระทบกับตลาดของ เอ็มดี-11 เต็มๆ หลายสายการบินที่พิจารณาจะสั่งซื้อ ก็ตัดสินใจยกเลิกออเดอร์ โดยเฉพาะสายการบินใหญ่ๆ ในสหรัฐฯ แทบไม่มีใครเลือกใช้ เอ็มดี-11 เลย ยกเว้น เดลต้าแอร์ไลน์

ส่วนผู้ที่ใช้งาน เอ็มดี-11 เมื่อผ่านทศวรรษที่ 90 ไป ก็แทบจะปลดออกจากฝูงบินทั้งหมด แล้วทดแทนด้วยเครื่องบินแบบ 2 เครื่องยนต์อย่าง โบอิ้ง 777 และ แอร์บัส เอ330 แทน ส่วนเอ็มดี-11 ถูกขายต่อและเอาไปดัดแปลงทำเครื่องบินขนสินค้า (คาร์โก) โดยมีผู้ใช้งานรายใหญ่ คือ เฟดเอ็กซ์ เอ็กซ์เพรส ยูพีเอส ลุฟท์ฮันซ่า คาร์โก้ ส่วนที่ยังเป็นเครื่องบินโดยสารอยู่เหลือเพียง KLM ที่ยังคงใช้บินให้บริการเป็นสายการบินสุดท้าย


ที่นั่งชั้นประหยัด ภาพโดย Chris Sloan เว็บไซต์ airwaysnews.com/blog/2013/10/31/last-klm-md11-flight-in-late-2014-end-trijet/

ที่นั่งชั้นธุรกิจ ภาพโดย Chris Sloan เว็บไซต์ airwaysnews.com/blog/2013/10/31/last-klm-md11-flight-in-late-2014-end-trijet/

เครื่องบิน เอ็มดี-11 ลำแรกของ KLM ออกจากโรงงานที่ลองบีช แคลิฟอร์เนีย

KLM เริ่มรับเครื่องบิน MD-11 ลำแรกมาเมื่อปี 1993 และมีการปรับปรุงห้องโดยสารให้มีความทันสมัย เทียบเท่าเครื่องบินในยุคปัจจุบัน โดย KLM แบ่งออกเป็น 3 ชั้นโดยสาร ได้แก่ ชั้นธุรกิจ 24 ที่นั่ง ชั้นอีโคโนมี คอมฟอร์ท โซน 38 ที่นั่ง และชั้นประหยัดปกติ 223 ที่นั่ง รวม 285 ที่นั่ง ทุกที่นั่งมีจอภาพด้านหน้าพร้อมระบบ Inflight Entertainment มีห้องน้ำ 7 ห้อง (หน้า 2 กลาง 2 หลัง 3) ล่าสุดยังคงมีเครื่องที่ให้บริการ 4 ลำ รวมเครื่องบินลำแรกที่ได้รับมาเมื่อปี 1993 โดยหลังจากนี้เครื่องบินทั้ง 4 ลำเมื่อปลดจากฝูงบินจะนำไปเก็บไว้ในโรงเก็บเพื่อรอการจำหน่ายออกไป ทั้งนี้ รวมอายุของเครื่องบิน MD-11 อยู่กับสายการบิน KLM มานานถึง 21 ปีเต็ม


ในหน้าเว็บดูที่นั่งคงไม่เห็นท้ายลำแบบนี้อีกแล้ว

เคแอลเอ็ม ได้แถลงถึงเหตุผลที่น่าสนใจถึงการต้องปลด MD-11 ว่า ทางสายการบินมีการลงทุนพัฒนาฝูงบินอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำเครื่องบินที่ใหม่และบินได้ดีมาให้บริการ และนั่นทำให้ไม่มีที่สำหรับ เอ็มดี-11 อีกต่อไป ด้วยคาแรกเตอร์ของเครื่องที่เป็น 3 เครื่องยนต์ทำให้มันกินเชื้อเพลิงมาก อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่สูง อะไหล่ที่หายาก บางชิ้นก็ไม่มีแล้วในสต๊อก และราคาน้ำมันที่สูงก็เป็นปัจจัยหลักที่ต้องทำให้มันจบตำนาน

ในส่วนของแผนการทดแทนเครื่องเอ็มดี-11 ในฝูงบิน ในเดือน ต.ค.ปี 2015 บริษัทแอร์ฟรานซ์ เคแอลเอ็ม ได้จัดหาเครื่องโบอิ้ง 787-9 ดรีมไลเนอร์ส เข้ามาทดแทน โดยได้สั่งซื้อไป 25 ลำ มันมีข้อได้เปรียบ MD-11 ที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ 276 คน กินน้ำมันน้อยกว่า 15% ไม่มีเสียงรบกวน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นี่จึงตรงกับคำสัญญาที่เคแอลเอ็มให้ไว้ เพื่อการไปสู่อุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศที่ยั่งยืน และระหว่างที่รอเครื่องใหม่ เคแอลเอ็มจะนำเอา โบอิ้ง 777 และ แอร์บัส เอ330 มาบินทดแทน

เที่ยวบินสุดท้ายของ MD-11 เป็นการยืนยันถึงการปิดฉากของยุคเครื่องบินลำตัวกว้างแบบ 3 เครื่องยนต์ อันได้แก่ ล็อคฮีท แอล-1011 ไทรสตาร์ (Lockheed L-1011 Tristar) ดักกลาส ดีซี-10 (Douglas DC-10) และเอ็มดี-11 (MD-11) 3 พี่น้องดาวค้างฟ้าของวงการการบินในยุคปี 80-90 โดยพี่ใหญ่ไทรสตาร์ ปิดตำนานไปเกือบ 10 ปี แล้ว ตามมาด้วยพี่รอง ดีซี-10 ที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อปี 2013 และน้องเล็กรายล่าสุดอย่าง เอ็มดี-11 แต่อย่างไรก็ตาม เอ็มดี -11 ยังคงบินบนฟ้าในฐานะเครื่องบินขนส่งสินค้าอยู่ เพราะยังคงมีใช้งานอยู่จำนวนหนึ่ง


เครื่องยนต์ที่หาง อันเป็นเอกลักษณ์ของ MD-11

เชื่อว่าคนที่เคยนั่งเครื่องบิน เอ็มดี-11 หรือแม้แต่ดีซี 10 เอง คงมีประสบการณ์ในการเดินทางที่ดีกับเครื่องรุ่นนี้ไม่น้อย ด้วยความสะดวกสบาย และความทันสมัยเท่าที่เครื่องบินโดยสารในยุคนั้นจะมีให้ได้ คนที่เดินทางด้วยเครื่องบิน ส่วนหนึ่งกลายมาเป็นแฟนพันธุ์แท้ของเอ็มดี-11 แต่จากนี้ไปคงเหลือให้แค่ได้คิดถึงและอาลัย เครื่องบินโดยสาร รูปร่างสุดเท่ที่มีเครื่องยนต์อยู่บนหาง.

ที่มา  : airwaysnews.com , นสพ.ไทยรัฐ

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 1612
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง