สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

ปลูกมันหวานญี่ปุ่น ในประเทศไทยให้ได้ผลดี ผลผลิตต่อไร่สูงสุด ได้หัวมันที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีต้นทุนในการผลิตต่ำ

by sator4u_team @28 ก.ย. 57 09:14 ( IP : 1...34 ) | Tags : ทำมาหากิน , มันเทศ , มันหวานญี่ปุ่น
  • photo  , 774x524 pixel , 95,348 bytes.
  • photo  , 767x520 pixel , 179,563 bytes.
  • photo  , 767x524 pixel , 151,923 bytes.
  • photo  , 761x510 pixel , 123,389 bytes.
  • photo  , 735x518 pixel , 163,388 bytes.
  • photo  , 762x522 pixel , 95,091 bytes.

การปลูกมันเทศพันธุ์ต่างประเทศในประเทศไทยจะให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย เกษตรกรผู้ปลูกจะต้องมีความรู้ มีการวางแผนและการจัดการที่ดี รวมถึงมีเทคนิคและการดูแลเฉพาะในแต่ละฤดูปลูกอีกด้วย เพื่อให้การปลูกมันเทศบรรลุเป้าหมายสูงสุด คือ “ให้ผลผลิตต่อไร่สูงสุด ได้หัวมันที่มีคุณภาพดี ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและมีต้นทุนในการผลิตต่ำ”

ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จังหวัดพิจิตร ได้คลุกคลีกับการปลูกมันเทศมานาน ประมาณ 7 ปี โดยสายพันธุ์ที่นำมาปลูกล้วนแต่เป็นสายพันธุ์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น อาทิ มันเทศเนื้อสีส้มประเทศออสเตรเลียและไต้หวัน, มันเทศเนื้อสีม่วงจากประเทศญี่ปุ่น, มันเทศเนื้อสีเหลืองญี่ปุ่น (มันหวานญี่ปุ่น) และไต้หวัน ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร ได้รวบรวมข้อมูลการปลูกและการบำรุงรักษาการปลูกมันเทศจากประสบการณ์ สรุปได้ดังนี้

วิธีการเตรียมแปลงปลูก

ปลูกมันเทศให้ลงหัวได้ดีนั้น ปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เรื่องโครงสร้างของดิน ถึงแม้ว่ามันเทศจะปลูกได้ในดินเกือบทุกชนิด แต่ดินร่วนปนทรายมีความเหมาะสมที่สุด สภาพดินที่ปลูกมีผลต่อการลงหัวของมัน หรือรูปร่างของหัวมัน พื้นดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ ก่อนปลูกควรใส่ปุ๋ยคอก เช่น มูลวัว มูลไก่ ฯลฯ ในอัตรา 1-2 ตัน หรือใส่ปุ๋ยคอกหลังการเตรียมแปลงเสร็จแล้ว โดยหว่านบนสันร่องแปลง ยกตัวอย่าง พื้นที่แปลงปลูกมันเทศที่เคยเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดต่อเนื่องมาหลายปี ทางชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรได้มีการหว่านเมล็ดปอเทืองลงไปในแปลงก่อนที่จะเตรียมแปลงปลูกมันเทศ หลังจากต้นปอเทืองเริ่มออกดอกจะไถกลบทันที เป็นปุ๋ยพืชสด

ในการเตรียมแปลงปลูก ให้ไถดะก่อน 1 ครั้ง และทิ้งไว้ประมาณ 7-10 วัน จากนั้นไถพรวนแปลง 1-2 รอบ หรือใช้โรตารี่ติดรถไถตีดินให้ดินมีความละเอียดยิ่งขึ้น หลังจากนั้น ให้ยกร่องแปลงปลูกขึ้นเป็นรูปสามเหลี่ยม กว้างประมาณ 70-100 เซนติเมตร สูง 30-50 เซนติเมตร (ความสูงของแปลงยิ่งมีความสูง ยิ่งส่งผลต่อการลงหัวมันดี) ส่วนความยาวของแปลงปลูกขึ้นกับสภาพพื้นที่ ถ้าจะให้เหมาะสมควรจะปลูกแบ่งเป็นแปลงเล็กๆ โดยมีความกว้างของแปลง 40 เมตร และความยาวของแปลง 80 เมตร เพื่อสะดวกและง่ายต่อการจัดการ

การจัดระบบน้ำในแปลงปลูกมันเทศ

โดยปกติทั่วไปสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมันเทศทั่วประเทศมักจะไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของระบบน้ำในแปลงปลูก ถ้าปลูกในช่วงฤดูฝน อาจจะพึ่งเพียงน้ำฝนจากธรรมชาติเท่านั้น ถ้าปลูกในฤดูแล้งอาจจะมีการให้น้ำแบบท่วมแปลงบ้างเท่านั้น แต่การปลูกมันเทศสมัยใหม่ควรจะมีการจัดระบบน้ำที่ดี ในแปลงปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศของชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร จะมีการวางระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์ ซึ่งมีรัศมีกระจายน้ำได้ 3-4.5 เมตร ระบบน้ำดังกล่าวมีข้อดีตรงที่ต้นมันเทศได้รับน้ำอย่างสม่ำเสมอและทั่วถึง ส่งผลให้ต้นมันเทศตั้งตัวได้เร็ว พบเปอร์เซ็นต์การรอดตายสูง แต่จะพบข้อเสียตรงวัชพืชจะขึ้นเร็ว ทำให้มีต้นทุนในการกำจัดวัชพืชเพิ่มขึ้น สำหรับการให้น้ำแบบอื่นๆ อย่างกรณีของการให้น้ำแบบท่วมร่อง ถ้าสภาพดินปลูกเป็นดินเหนียว เมื่อดินแห้ง ดินจะแข็งและจับตัวกันแน่น มีผลต่อการลงหัวของมันเทศ ทำให้ผลผลิตลดลง


วิธีเตรียมท่อนพันธุ์มันเทศ

ในการตัดท่อนพันธุ์ ควรจะตัดให้มีความยาวราว 30 เซนติเมตร จะไม่ลิดใบทิ้งหรือลิดทิ้งก็ได้ เนื่องจากยอดมันเป็นพืชที่แตกยอดออกมาใหม่ได้ง่าย ถ้าลิดใบทิ้งก็จะทำให้เสียเวลา แต่ยอดมันเทศเมื่อลงปลูกจะตั้งตัวได้เร็วกว่าไม่ลิดใบ การตัดยอดใช้ส่วนที่เป็นยอดจะดีที่สุด สำหรับท่อนที่ 2-3 ลงไป สามารถปลูกให้ได้ผลผลิตเช่นกันแต่การให้หัวจะน้อยลงไปตามลำดับ

เมื่อตัดท่อนพันธุ์มาแล้ว ควรจะมัดรวมกันเป็นท่อนหรือเป็นกำ เอาใบตองหรือกระสอบปุ๋ยห่อมัดเอาไว้ ควรนำท่อนพันธุ์แช่น้ำยาฆ่าแมลงในกลุ่ม “คาร์โบซัลแฟน” เช่น ไฟท์ช็อต จุ่มแช่ไว้นานราว 5-10 นาที จะช่วยลดเรื่องแมลงที่จะติดไปกับท่อนพันธุ์ได้เป็นอย่างดี หลังจากนั้น ให้นำมัดท่อนพันธุ์วางไว้ในที่ร่ม รดน้ำ เช้า-เย็น ประมาณ 2-3 วัน ยอดท่อนพันธุ์ก็จะมีรากออกมา แสดงว่าท่อนพันธุ์พร้อมปลูกแล้ว

ถ้าจะให้ดี ท่อนพันธุ์มันเทศที่จะตัดควรจะตัดจากต้นที่มีอายุไม่เกิน 45 วัน หรือก่อนที่จะมีการฉีดพ่นปุ๋ย หรือสารเคมีเพื่อหยุดยอด ในพื้นที่ปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 ไร่ จะใช้ท่อนมันเทศประมาณ 8,000-16,000 ยอด


ปลูกมันเทศ สายพันธุ์ต่างประเทศให้ได้ผลดี

ก่อนที่เกษตรกรจะลงมือปลูกควรจะมีการให้น้ำในแปลงปลูกอย่างน้อย 2-3 วัน เพื่อให้ดินมีความชื้น ปลูกได้ง่ายและรวดเร็ว วิธีการเตรียมหลุมปลูกแบ่งได้ 3 วิธี คือ ปลูกแบบใช้จอบขุด ปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำไปก่อน หรือจะปลูกแบบนำท่อนพันธุ์เสียบลงแปลงปลูกเลย จากการทดลองปลูกทั้ง 3 วิธี พบว่า วิธีปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำไปก่อนได้ผลดีกว่าวิธีการอื่น เพราะทำได้ง่าย รวดเร็ว ไม่เสียแรงงานในการขุดดินและท่อนพันธุ์ไม่ช้ำ

ระยะปลูกระหว่างต้น ประมาณ 25-30 เซนติเมตร หากใช้จอบขุดปลูกบนสันร่อง หลุมที่ปลูกควรมีความลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตร ควรจะวางยอดท่อนพันธุ์ทำมุม 45 องศา ฝังลึกลงดิน 2-3 ข้อ ของท่อนพันธุ์มันเทศและให้ข้อโผล่พ้นดินขึ้นมาประมาณ 2-3 ข้อ หลังจากนั้น กลบดินให้แน่นเล็กน้อย เพื่อไม่ให้ท่อนพันธุ์โยกคลอน  แต่หากปลูกแบบใช้ไม้ปลายแหลมกระทุ้งนำ จะปลูกท่อนพันธุ์มันเทศให้เป็นคู่บนสันร่องโดยใช้ไม้แหลมกระทุ้งนำไปก่อน ทำมุม 45 องศา จากนั้นเสียบท่อนพันธุ์ลงดิน 2-3 ข้อ ของท่อนมันเทศ ในพื้นที่ปลูกมันเทศสายพันธุ์ต่างประเทศ 1 ไร่ ทางชมรมจะใช้ท่อนพันธุ์มันเทศ ประมาณ 11,000-12,000 ยอด ซึ่งพบว่าเป็นจำนวนที่ให้ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างสูง

การให้น้ำมันเทศ

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังจากที่ปลูกท่อนมันเทศลงดินไปแล้ว จะต้องมีการให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ 3 วันแรกจะต้องให้ทุกวัน เช้า-เย็น ให้ครั้งละประมาณ 1-2 ชั่วโมง (กรณีที่ให้ระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์) หลังจากนั้น จะให้น้ำวันเว้นวัน หรือ 3 วัน หรือ 5 วัน หรือ 7 วัน ต่อครั้ง ข้อควรระวัง หลังจากที่ปลูกมันเทศไปแล้วประมาณ 7-10 วัน เกษตรกรจะต้องเดินสำรวจในแปลงปลูกว่ามีต้นใดตายบ้าง จะต้องปลูกซ่อมให้เสร็จทันที


ด้วงงวงมันเทศ ศัตรูที่สำคัญของการปลูกมันเทศ

แมลงศัตรูมันเทศที่มีความสำคัญที่สุดคือ “ด้วงงวงมันเทศ” หรือ “เสี้ยนดิน” ในพื้นที่การปลูกมันเทศทั่วประเทศและทั่วทุกแห่งในโลกจะพบการระบาดของแมลงชนิดนี้ ถ้าพบการระบาดมาก ผลที่ตามมาก็คือ ทำให้มันเทศลงหัวได้น้อยลง หัวมีคุณภาพต่ำ มีกลิ่นเหม็น และรสชาติขม มีคำแนะนำในการป้องกันและกำจัดด้วงงวงมันเทศ อันดับแรก ไม่ควรปลูกมันเทศซ้ำที่เดิมหรือปลูกมันเทศติดต่อกันหลายปี ถ้ามีพื้นที่น้อยและจำเป็นจะต้องปลูกในพื้นที่เดิม ควรจะปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นพืชหมุนเวียน กำจัดเก็บ “เศษหัวมันเทศ” ที่ถูกทิ้งอยู่ในแปลงออกให้หมด เพราะจะเป็นแหล่งอาหารให้ด้วงงวงมันเทศอาศัย กำจัดวัชพืชอาหารรอบแปลงปลูกมันเทศ โดยเฉพาะ “ผักบุ้ง” ที่ด้วงงวงมันเทศสามารถที่จะแพร่และขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี สำหรับพื้นที่ปลูกอยู่ในเขตชลประทานวิธีการปล่อยน้ำท่วมแปลงก่อนลงมือปลูกมีส่วนช่วยในการทำลายไข่ ตัวอ่อน และตัวแก่ ของด้วงงวงมันเทศได้ส่วนหนึ่งโดยไม่ต้องใช้สารเคมี

อายุการเก็บเกี่ยวมันเทศ

ความจริงแล้วอายุการเก็บเกี่ยวมันเทศเกือบทุกสายพันธุ์ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 120-150 วัน หลังจากปลูกท่อนพันธุ์ลงไป ในขณะเดียวกันมีปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย เช่น ฤดูกาลปลูก ความสมบูรณ์ของต้น สายพันธุ์ที่ปลูก อย่างกรณีของมันเทศเนื้อสีส้ม

ที่ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรนำเข้ามาปลูก สามารถเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่อายุ 100 วัน ขึ้นไป แต่ไม่ควรเกิน 150 วัน วิธีการสังเกตว่ามันเทศแก่และเก็บเกี่ยวได้ สังเกตสันร่องที่ปลูก ดินจะแตกออกอย่างชัดเจน สังเกตเถามันจะเหี่ยวและออกดอก เกษตรกรควรจะขุดสุ่มตัวอย่างและนำมาทดลองบริโภคหรืออาจจะใช้มีดปาดหัวดูว่ามียางไหลออกมามากหรือน้อย ถ้ายางออกมาน้อยแสดงแก่แล้ว เตรียมขุดขายส่งตลาดได้


.........................................................


ข้อเสนอแนะที่สำคัญ สำหรับผู้ปลูกมันเทศ
1.  เกษตรกรไทยจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมจากการปลูกมันเทศในอดีตที่คิดว่าไม่จำเป็น มีการบำรุงรักษา โดยเฉพาะเรื่องของการให้น้ำ น้ำมีผลต่อการลงหัวของมันเทศ ถ้าต้นมันเทศได้น้ำสม่ำเสมอในช่วงระยะเวลาลงหัวจะได้มันที่ได้น้ำหนักและหัวขนาดใหญ่

2.  ท่อนพันธุ์มันเทศที่ตัดจากต้นมันเทศมาขยายพันธุ์ต่อ ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกตัดจากยอดมาเพียง 1 ท่อนเท่านั้น ถ้าตัดยอดที่ 2-3 จากต้นเดียวกันจะมีผลต่อการให้ผลผลิต และยังมีคำแนะนำเพิ่มเติมว่าเมื่อใช้ยอดมันเทศเป็นท่อนพันธุ์นั้น ควรจะใช้เพียง 3 รุ่น ควรจะเปลี่ยนมาขยายพันธุ์จากหัวเพื่อทำรุ่นต่อไป

3.  แมลงและโรคศัตรูมันเทศ ถึงแม้ว่าจะมีการระบาดไม่มากเท่ากับพืชอีกหลายชนิด แต่ที่เห็นว่าเป็นศัตรูที่มีความสำคัญยิ่งก็คือ “ด้วงงวงมันเทศ” เกษตรกรจะต้องเน้นในการป้องกันการระบาด จะดีกว่าพบการระบาดแล้วถึงจะมีการฉีดพ่นสารเคมี เมื่อพบการระบาดแล้วจะควบคุมได้ยากมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาและระมัดระวังเป็นพิเศษที่เสี่ยงต่อการระบาดของแมลงชนิดนี้ก็คือ การปลูกมันเทศซ้ำที่เดิม และการป้องกันและกำจัดในช่วงระยะเวลาที่ต้นมันเทศลงหัว

4.  การปลูกมันเทศ ไม่ควรปลูกซ้ำที่เดิม เมื่อปลูกมันเทศไปแล้ว 1 รุ่น พื้นที่นั้นควรปลูกพืชหมุนเวียน เช่น ถั่วเขียว ปอเทือง ทดแทนหลังจากที่ต้นถั่วเขียวมีอายุต้นได้ 45 วัน หรือระยะที่ออกดอกให้ไถกลบทั้งต้น จะได้ปุ๋ยพืชสดอย่างดี แล้วค่อยปลูกมันเทศต่อไป
5.  เทคนิคในการฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดโรคแมลงสำหรับการปลูกมันเทศโดยเฉพาะ ถ้าฉีดเพื่อป้องกันและกำจัด “ด้วงงวงมันเทศ” จะต้องฉีดน้ำยาให้ชุ่มโชกถึงดิน


..................................................................


หนังสือ “การปลูกมันหวานญี่ปุ่นในประเทศไทย” พิมพ์ 4 สี แจกฟรี พร้อมกับ หนังสือ “อาชีพเกษตรกรรม ทำง่าย รายได้งาม เล่มที่ 1- เล่มที่ 6” รวม 7 เล่ม จำนวน 588 หน้า เกษตรกรและผู้สนใจเขียนจดหมายสอดแสตมป์ มูลค่ารวม 250 บาท (พร้อมระบุชื่อหนังสือ) ส่งมาขอได้ที่ ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร เลขที่ 2/395 ถนนศรีมาลา ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร 66000 โทร. (056) 613-021, (056) 650-145 และ (081) 886-7398


/////////////////////


ที่มา @ บันทึกไว้เป็นเกียรติ ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ // นสพ. มติชน

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 7931
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง