สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

รู้จักโรคไวรัสมรณะ อีโบลา ebola virus โรคไวรัสอีโบลา หรือไข้เลือดออกอีโบลา

by sator4u_team @31 ก.ค. 57 13:56 ( IP : 180...25 ) | Tags : สุขภาพ
  • photo  , 770x770 pixel , 142,042 bytes.

การระบาดของ เชื้อไวรัสอีโบลา ในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่เริ่มรายงานพบผู้ป่วยคนแรกๆ เมื่อเดือน ก.พ. ล่าสุดพบผู้ป่วยในประเทศกินี, ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน รวมถึงไนจีเรียแล้วกว่า 1,323 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 729 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์กรสาธารณสุขทั้งในและต่างประเทศ กำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อหาทางยับยั้งการระบาดของเชื้อมรณะตัวนี้ แม้ว่าตัวเองอาจจะติดเชื้อ หรือกระทั่งต้องเสียชีวิต

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน แพทย์จากประเทศยูกันดาเสียชีวิตจากการติดเชื้ออีโบลา หลังจากเดินทางเข้ามาเป็นอาสาสมัครรักษาผู้ป่วยในแอฟริกาตะวันตก จากนั้นก็มีข่าวเจ้าหน้าที่พยาบาลหลายสิบคนและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดเชื้อ และต้องเสียชีวิตจากเจ้าไวรัสมรณะ แม้จะมีการป้องกันตัวเองด้วยอุปกรณ์และมาตรการต่างๆ เอาไว้แล้วก็ตาม

แต่ที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วภูมิภาค คือการเสียชีวิตของ ดร. ชีค อูมาร์ คาน หัวหน้าทีมแพทย์ต่อสู้กับไวรัสอีโบลาของประเทศเซียร์ราลีโอน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านโรคไข้เลือดออกเพียงไม่กี่คนในประเทศ โดย ดร.คาน เป็นหัวหน้าแผนกโรคไข้เลือดออก 'ลัสซา' ที่โรงพยาบาลคีนีมาของรัฐบาลเซียร์ราลีโอน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีอัตราผู้ป่วยโรคลัสซาสูงที่สุดในโลก

โรคไวรัสอีโบลา หรือไข้เลือดออกอีโบลา เป็นโรคของมนุษย์ที่เกิดจากไวรัสอีโบลา เริ่มมีอาการสองวันถึงสามสัปดาห์หลังสัมผัสกับไวรัส โดยมีไข้ เจ็บคอ ปวดกล้ามเนื้อและปวดศีรษะ จากนั้นมีคลื่นไส้ อาเจียนและท้องร่วงร่วมกับการทำหน้าที่ของตับและไตลดลง เมื่อถึงจุดนี้ บางคนเริ่มมีปัญหาเลือดออก

ประชากรรับโรคนี้ครั้งแรกเมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับเลือดหรือของเหลวร่างกายจากสัตว์ที่ติดเชื้อ เช่น ลิงหรือค้างคาวผลไม้ เชื่อว่าค้างคาวผลไม้เป็นตัวพาและแพร่โรคโดยไม่ได้รับผลกระทบจากไวรัส เมื่อติดเชื้อแล้ว โรคอาจแพร่จากคนสู่คนได้ ผู้ที่รอดชีวิตอาจสามารถส่งผ่านโรคได้ทางเพศสัมพันธ์เป็นเวลาเกือบสองเดือน ในการวินิจฉัย ต้องแยกโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันออก เช่น มาลาเรีย อหิวาตกโรคและไข้เลือดออกจากไวรัสอื่น ๆ จากนั้น อาจทดสอบเลือดหาแอนติบอดีต่อไวรัส ดีเอ็นเอของไวรัส หรือตัวไวรัสเองเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

การป้องกันรวมถึงการลดการระบาดของโรคจากลิงและหมูที่ติดเชื้อสู่คน ซึ่งอาจทำได้โดยการตรวจสอบหาการติดเชื้อในสัตว์เหล่านี้ และฆ่าและจัดการกับซากอย่างเหมาะสมหากพบโรค การปรุงเนื้อสัตว์และสวมเสื้อผ้าป้องกันอย่างเหมาะสมเมื่อจัดการกับเนื้อสัตว์อาจช่วยได้ เช่นเดียวกับสวมเสื้อผ้าป้องกันและล้างมือเมื่ออยู่ใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคดังกล่าว ตัวอย่างจากผู้ป่วยควรจัดการด้วยความระมัดระวังเพิ่มขึ้น

ไม่มีการรักษาไวรัสอย่างจำเพาะโดยความพยายามช่วยเหลือผู้ป่วยมีการบำบัดคืนน้ำ (rehydration therapy) ทางปากหรือหลอดเลือดดำ โรคนี้มีอัตราตายสูง โดยอาจถึง 90% ตรงแบบเกิดในการระบาดในเขตร้อนแอฟริกาใต้สะฮารา ระหว่างปี 2519 ซึ่งมีการระบุโรคครั้งแรก และปี 2555 มีผู้ติดเชื้อน้อยกว่า 1,000 คนต่อปี มีการระบุโรคนี้ครั้งแรกในประเทศซูดานและสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก แม้จะมีความพยายามพัฒนาวัคซีนอยู่ แต่จนถึงบัดนี้ยังไม่มีวัคซีน


ศัพท์มูลวิทยา

ไวรัสชนิดนี้ได้ชื่อมาจากพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอีโบลา ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ทวีปแอฟริกา (ชื่อประเทศเดิมคือ ซาอีร์) ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ที่โรคนี้ระบาดครั้งแรก


โครงสร้าง

ขนาดและรูปร่าง

จากการดูไวรัสอีโบลาด้วยกล้องจุลทัศน์อิเล็กตรอนพบว่าตัวมันมีลักษณะเป็นเส้นด้ายในกลุ่มฟิโลไวรัส ไวรัสอีโบลาหรือ EBOV VP30 มีความยาวประมาณ 288 หน่วยกรดอะมิโน ตัวไวรัสมีลักษณะเป็นท่อมีรูปร่างขดตัวต่างกันหลายแบบ เช่นคล้ายตัว "U" หรือเลข "6" แต่อาจเป็นไปได้ที่เครื่องปั่นหนีศูนย์ที่ใช้ในกระบวนการทำบริสุทธิ์อาจทำให้ตัวมันมีลักษณะดังที่เห็นก็เป็นได้ โดยทั่วไปเส้นผ่าศูนย์กลางของไวรัสนี้จะตกอยู่ประมาณ 80 นาโนเมตร ความยาวผันแปรแตกต่างกันมากกว่าลำตัว ซึ่งอาจยาวได้ถึง 1,400 นาโนเมตร แต่โดยปกติแล้วไวรัสอีโบลาจะยาวประมาณ 1,000 นาโนเมตร





จีโนม

จีโนม ของไวรัสแต่ละตัวจะมีโมเลกุลย่อยที่ยาวเป็นเส้นเดี่ยว และเป็น อาร์เอ็นเอ ประเภทเนกาทีฟ (negative sense RNA) ยาวเป็นจำนวน 18959 ถึง 18961 นิวคลีโอไทด์





โรคไข้เลือดออกอีโบลา (อาการโรคและการติดโรค)

ภาพพยาบาลสองคนถ่ายในโรงพยาบาลเมืองคินชาซาเมื่อ พ.ศ. 2519 กำลังยืนอยู่หน้าเตียงคนไข้รายที่ 3 ซึ่งเป็นพยาบาลที่ติดโรค เธอได้รับการรักษาแต่ก็เสียชีวิต อาการของโรคมีความผันแปรและมักเกิดฉับพลัน อาการแรกเริ่มได้แก่การมีไข้สูง (อย่างต่ำ 38.8°C หรือ 102°F) ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ข้อและช่องท้องรุนแรง อ่อนเพลียอย่างหนักและวิงเวียนศีรษะ ในช่วงแรกๆ ที่เกิดการระบาดและยังไม่เป็นที่รู้จักมากมักวินิจฉัยว่าเป็นไข้มาลาเรีย ไข้ไทฟอยด์ ท้องร่วง ไข้หวัดใหญ่ รวมทั้งโรคอื่นๆ ที่เกิดจากแบคทีเรียซึ่งมีอาการคล้ายกันแต่ไม่รุนแรงถึงชีวิต

อาการอาจร้ายแรงขึ้น เช่นท้องร่วงอย่างแรง อุจจาระกลายเป็นสีดำหรือแดงจัด อาเจียนเป็นโลหิต ตาแดงจัด ความดันโลหิตลดต่ำกว่า 90/60 ไต ม้ามและตับได้รับความเสียหาย อัตราการตายสูงมากถึงระหว่าง 50% - 90% สาเหตุที่ตายเกิดจากขาดเลือด หรืออวัยวะวาย

ลักษณะโรค : เป็นโรคติดเชื้อไวรัสชนิดเฉียบพลันรุนแรง เกิดจากเชื้อไวรัสอีโบลา (Ebola virus) ซึ่งอยู่ในตระกูล Filoviridae family ประกอบด้วย 5 สายพันธุ์ (species) ได้แก่ สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ สายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี สายพันธุ์เรสตัน (Reston) และสายพันธุ์ Bundibugyo โดยสายพันธุ์ซูดาน สายพันธุ์ซาร์อี และสายพันธุ์ Bundibugyo ทำให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาและทำให้มีอัตราป่วยตายประมาณ ร้อยละ 25-90 ในขณะที่ สายพันธุ์ไอวอรีโคสต์ และสายพันธุ์เรสตัน (Reston) มักไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง และยังไม่มีรายงานการเสียชีวิตจากสายพันธุ์เรสตัน (Reston)

อาการของโรค และระยะฟักตัว : ระยะฟักตัวประมาณ 2 – 21 วัน ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาจะมีไข้สูงทันทีทันใด อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ และเจ็บคอ ตามด้วยอาการ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว (maculopapular rash) ในรายที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิต จะพบมีเลือดออกง่าย โดยเกิดทั้งเลือดออกภายในและภายนอกร่างกาย (internal and external bleeding) มักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย หรือก่อให้เกิดอาการของระบบประสาทส่วนกลาง ช็อก และเสียชีวิตได้





การวินิจฉัยโรค : การวินิจฉัยมักจะเป็นการตรวจผสมผสานระหว่างการตรวจหาแอนติเจน โดยวิธี RT-PCR ร่วมกับหาแอนติบอดี คือ IgM หรือ IgG จากตัวอย่างเลือด นํ้าเหลือง หรือจากอวัยวะ อาจใช้การแยกเชื้อไวรัสโดยการเพาะเชื้อ หรือการเลี้ยงในหนูตะเภา หรือบางครั้งอาจตรวจพบเชื้อได้จากการส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนในชื้นเนื้อจากตับ ม้าม ผิวหนัง หรืออวัยวะอื่นๆ การชันสูตรศพโดยการตรวจชื้นเนื้อ (Formalin-fixed skin biopsy) หรือการผ่าศพพิสูจน์ด้วยการตรวจหาภูมิคุ้มกันหรือองค์ประกอบทางเคมีของเซลลและเนื้อเยื่อสามารถทําได้และเนื่องจากโรคนี้มีอันตรายต่อมนุษย์สูงมาก ดังนั้นการตรวจและศึกษาทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับโรคนี้ กระทําได้เฉพาะในระบบป้องกันอันตรายที่อาจเกิดแก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งชุมชนในระดับสูงสุด (BSL-4)

แหล่งรังโรค : ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ถึงแม้จะมีการศึกษาอย่างกว้างขวาง จากหลักฐานที่เพิ่มขึ้นชี้ให้เห็นถึงบทบาทของลิง (ซึ่งมีโรคที่คล้ายคลึงกับคน) และ/หรือ ค้างคาวในห่วงโซ่การถ่ายทอดเชื้อสู่คน ในทวีปแอฟริกา พบว่าการติดเชื้อไวรัสอีโบลาในผู้ป่วยรายแรกที่พบ (human index case) มีความเกี่ยวข้องกับการสัมผัสลิงกอริลล่า ลิงซิมแปนซี ลิงอื่นๆ สัตว์จำพวกเลียงผา กวางผา และเม่นที่ตายหรือถูกฆ่าในป่าทึบ จนถึงปัจจุบันนี้ พบเชื้อไวรัสอีโบลาในสัตว์ป่า เช่น ซากลิงซิมแปนซี (ในประเทศไอวอรีโคสต์และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก) ลิงกอริลล่า (ในประเทศกาบองและประเทศคองโก) และตัว duikers (ในประเทศคองโก) ที่พบตายในป่าทึบ การตายของลิงชิมแปนซี และลิงกอริลล่าจำนวนมากสามารถใช้ในการเฝ้าติดตามการแพร่กระจายของไวรัสได้ แต่อย่างไรก็ตาม แม้สัตว์เหล่านี้จะสามารถติดเชื้อและแพร่เชื้อสู่คนได้ แต่ไม่น่าจะเป็นแหล่งรังโรค และจากหลักฐานที่มีอยู่บ่งชี้ว่า ค้างคาวน่าจะเป็นแหล่งรังโรค จากการตรวจหาการสร้างแอนติบอดี และ RT-PCR ในค้างคาว และความสัมพันธ์ของการสร้างแอนติบอดีในคนที่สัมผัสค้างคาว





วิธีการแพร่โรค : พบการติดต่อของเชื้อไวรัสอีโบลาสู่คน โดยการสัมผัสโดยตรงกับเลือดหรือเครื่องในของลิงที่ติดเชื้อ หรือเกิดขณะจัดการหรือชําแหละสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตาย โดยยังไม่พบรายงานจากการติดเชื้อผ่านทางละอองฝอยที่ลอยในอากาศ สำหรับการติดต่อจากคนสู่คน เกิดจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือดที่ติดเชื้อ สารคัดหลั่ง อวัยวะ หรือนํ้าอสุจิ นอกจากนี้ การติดเชื้อในโรงพยาบาลก็พบได้บ่อยผ่านทางเข็มและหลอดฉีดยาที่ปนเปื้อนเชื้อ และยังพบการแพร่กระจายเชื้ออีโบลาในพิธีศพได้บ่อย เนื่องจากญาติผู้เสียชีวิตอาจมีการสัมผัสโดยตรงกับร่างกายของผู้เสียชีวิต

ระยะติดต่อของโรค : จะไม่มีการแพร่เชื้อก่อนระยะมีไข้ และจะแพร่เชื้อเพิ่มมากขึ้นในระยะที่มีอาการป่วยนานเท่าที่เลือดและสารคัดหลั่งยังมีไวรัสอยู่ ในผู้ป่วยรายหนึ่งที่ได้รับเชื้อจากห้องปฏิบัติการสามารถตรวจพบเชื้ออีโบลาในน้ำอสุจิได้ในวันที่ 61 แต่ตรวจไม่พบในวันที่ 76 หลังเริ่มป่วย

มาตรการป้องกันโรค : ยังไม่มีวัคซีนหรือการรักษาแบบเฉพาะเจาะจงสําหรับโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ควรป้องกันการมีเพศสัมพันธ์หลังการเจ็บป่วยเป็นเวลา 3 เดือน หรือจนกระทั่งตรวจไม่พบไวรัสในนํ้าอสุจิ

มาตรการควบคุมการระบาด : แยกผู้ป่วยสงสัยจากผู้ป่วยอื่นๆ และเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิด ใช้มาตรการ ป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาลอย่างเข้มงวด รวมถึงดําเนินการให้ความรู้แก่ชุมชนอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว





การรักษา

หอผู้ป่วยแยกในโรงพยาบาลที่เมืองกูลู อูกานดา เมื่อคราวการระบาดเมื่อ พ.ศ. 2543

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาจำเพาะสำหรับโรคไวรัสอีโบลา มีแต่เพียงการรักษาประคับประคอง (supportive treatment) ได้แก่ทำหัตถการแบบรุกล้ำให้น้อยที่สุด รักษาสมดุลอิเล็กโตรไลต์และสารน้ำเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ให้สารต้านการแข็งตัวของเลือดในระยะแรกเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (DIC) ให้สารช่วยการแข็งตัวของเลือดในระยะท้ายเพื่อควบคุมไม่ให้มีเลือดออก รักษาระดับออกซิเจน บรรเทาอาการปวด และใช้ยาต้านเชื่อแบคทีเรียหรือยาต้านเชื้อราเพื่อรักษาการติดเชื้อซำซ้อน





บทความน่าสนใจ อื่นๆ

โลกเผชิญ! ‘อีโบลา’ ระบาดเลวร้ายสุดในประวัติศาสตร์ สกัดอีโบลาระบาด! สายการบินแอฟริกา งดบินไลบีเรีย-เซียร์ราฯ ‘อีโบลา’ระบาดหนัก! เซียร์รา ลีโอนประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข สดุดี ดร. 'ชีค อูมาร์ คาน' ฮีโร่สละชีพสู้ 'อีโบลา' ในเซียร์ราลีโอน ดาวน์โหลดฟรี! คู่มือ 'รู้จัก-ป้องกัน' เชื้อไวรัสอีโบลา Ebola Hemorrhagic Fever สหรัฐฯส่งเครื่องบิน รับชาวมะกันป่วย 'อีโบลา' กลับประเทศ


ที่มา @ สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ (กระทรวงสาธารณสุข) , WIKI . นสพ.ไทยรัฐ , WHO ,CDC (Centers for Disease Control and Prevention)

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 6782
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง