สะตอฟอร์ยู ::: สนับสนุนให้คนใต้ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น!!!

ผักบุ้งจีน ปลูกง่าย ขายง่าย รวยเร็ว

by sator4u_team @28 ก.ค. 57 02:00 ( IP : 180...55 ) | Tags : ทำมาหากิน
  • photo  , 500x374 pixel , 106,837 bytes.
  • photo  , 480x360 pixel , 82,562 bytes.

ผักบุ้งจีนเป็นพืชผักเมืองร้อนชนิดหนึ่งที่คนไทยนิยมบริโภคกันมาก ผักบุ้งที่ปลูกในประเทศไทยมีอยู่ 2 ประเภทคือ ผักบุ้งไทย ซึ่งมีดอกสีม่วงอ่อน ลำต้นสีเขียวหรือม่วงอ่อน ใบสีเขียวเข้ม ก้านใบมีสีม่วง และผักบุ้งจีน ลักษณะใบมีสีเขียว ก้านสีเหลืองหรือขาว ก้านดอกและดอกมีสีขาว

ผักบุ้งจีนเป็นผักที่อยู่ในตระกูล Convolvulaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ipomoea aguatica Forsk เป็นผักพื้นเมืองของทวีปเอเชียเขตร้อน อาฟริกา และออสเตรเลีย แล้วแพร่กระจายไปยังเขตร้อนต่าง ๆ ของโลก ผักบุ้งจีนเป็นผักที่ปลูกเพื่อบริโภคส่วนของใบและลำต้น โดยนำมาใช้ประกอบอาหารได้อย่าง กว้างขวาง เช่น ผัดผักบุ้งไฟแดง รับประทานสด แกง ก๋วยเตี๋ยว หรือใช้เป็นผักจิ้มนํ้าพริกก็ได้ จึงนิยมปลูกผักบุ้งจีนเป็นการค้าอย่างแพร่หลาย ทั้งการปลูกเพื่อบริโภคสด และการผลิตเมล็ดพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันผักบุ้งจีนได้พัฒนา เป็นพืชส่งออกที่มีความสำคัญ โดยการส่งออกทั้งในรูปผักสดและเมล็ดพันธุ์ ผักบุ้งจีนเป็นพืชผักที่นิยมรับประทานกันมาก เนื่องจากผักบุ้งจีนมีคุณค่าทางอาหารสูง ประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะวิตามินเอซึ่งช่วยบำรุงสายตาได้เป็นอย่างดีมีปริมาณสูงถึง 9,550 หน่วยสากล ในส่วนที่รับประทานสดได้ 100 กรัม หรือมีวิตามินเอสูงถึง 6,750 หน่วยสากล ในส่วนที่รับประทานได้เมื่อสุกแล้ว 100 กรัม นอกจากนี้ ยังมีแคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินซีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกด้วย ประกอบกับผักบุ้งจีนเป็นผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว สามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทุกฤดูกาล และอายุการเก็บเกี่ยวสั้น จึงนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย

แหล่งปลูกผักบุ้งจีนเพื่อบริโภคสดที่สำคัญได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี ราชบุรี นครนายก พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ นครราชสีมา อุบลราชธานี ขอนแก่น และสงขลา สำหรับแหล่งปลูกเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนเป็นการค้าที่สำคัญ ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ลพบุรี สิงห์บุรี และเชียงใหม่

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ราก รากของผักบุ้งจีนเป็นระบบรากแก้ว มีรากแขนงแตกออกทางด้านข้างของรากแก้วและยังสามารถแตกรากฝอยออกมาจากข้อของลำต้นได้ด้วย โดยมักจะเกิดตามข้อที่อยู่บริเวณโคนเถา

ลำต้น ผักบุ้งจีนเป็นไม้ล้มลุก ในระยะแรกของการเจริญเติบโตจะมีลำต้นตั้งตรง ในระยะต่อไปลำต้นจะเลื้อยทอดยอดไปตามพื้นดินหรือนํ้า ลำต้นมีสีเขียวและปล้องข้างในกลวง รากจะเกิดที่ข้อทุกข้อที่สัมผัสกับพื้นดินหรือนํ้า ที่ข้อมักมีตาแตกออกมา ทั้งตาใบและตาดอก โดยตาใบจะอยู่ด้านนอก ส่วนตาดอกจะอยู่ด้านใน

ใบ ใบผักบุ้งจีนเป็นใบเดี่ยว รูปร่างคล้ายหอก โคนใบกว้างแล้วค่อยๆ เรียวเล็กไปตอนปลาย ปลายใบแหลมที่โคนใบเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่น ใบมีความยาวประมาณ 7-15 เซนติเมตร ก้านใบยาว 3-8 เซนติเมตร สำหรับการจัดเรียงของใบเป็นแบบเรียงสลับ ข้อหนึ่งจะมีใบเพียงใบเดียว

ดอกและช่อดอก ดอกผักบุ้งจีนเป็นดอกสมบูรณ์ คือมีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่ละดอกประกอบด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียว 5 อัน กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ด้านนอกมีสีขาวด้านในมีสีม่วง การจัดเรียงของกลีบดอกขณะที่ดอกยังตูมอยู่จะซ้อนกันเป็นใบจักร เมื่อบานจะมีขนาด เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้ 5 อัน และเกสรตัวเมีย 1 อัน รังไข่ตั้งอยู่เหนือบริเวณที่เกิดของกลีบดอกและเกสรตัวผู้ รังไข่มี 4 ห้อง ไข่ติดอยู่กับแกนกลางของรังไข่ ใน 1 ห้องของรังไข่อาจมี 1 เมล็ดหรือมากกว่าก็ได้ ในฤดูวันสั้นจะออกดอกมีฝักและเมล็ด ในฤดูวันยาวจะเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ

การผสมเกสรของผักบุ้งจีนเป็นแบบผสมตัวเอง และมีการผสมข้ามดอกบ้างเนื่องจากลมและแมลง ดอกผักบุ้งจีนจะเริ่มบานในเวลาเช้า ละอองเกสรตัวผู้และยอดเกสรตัวเมียพร้อมที่จะผสมในเวลา 10.00-15.00 น. ระยะเวลาหลังผสมจนผสมติดประมาณ 3-4 วัน และจากผสมติดจนเมล็ดแก่ประมาณ 40-50 วัน

ผล เป็นผลเดี่ยว รูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดใหญ่ที่สุดเมื่ออายุ ประมาณ 30 วันหลังดอกบาน มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ย 1.42 เซนติเมตร หลังจากนั้นจะมีขนาดเล็กลง ลักษณะผิวภายนอกจะเหี่ยวย่น ขรุขระ ไม่แตก เมื่อแห้งสีของผลเมื่อแก่จะมีสีนํ้าตาลหรือนํ้าตาลเข้ม ใน 1 ผลมีเมล็ด 4-5 เมล็ด

เมล็ด เมล็ดผักบุ้งจีนมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมฐานมน มีสีน้ำตาล เปลือกหุ้มเมล็ดมีสี 3 ระดับคือ สีน้ำตาลอ่อน สีนํ้าตาลแก่ และสีน้ำตาลดำ มีขนาดเล็ก ความกว้างโดยเฉลี่ยประมาณ 0.4 เซนติเมตร ยาว 0.5 เซนติเมตร ไม่มีอาหารสะสมในเอนโดสเปิร์ม แต่มีอาหารสะสมในใบเลี้ยงซึ่งติดอยู่กับ เอมบริโอเพื่อคอยทำหน้าที่ให้อาหาร ผักบุ้งจีนเป็นพืชที่มีอัตราการพักตัวสูง โดยจะพักตัวในลักษณะของเมล็ดแข็งหรือที่เรียกว่าเมล็ดหิน เมล็ดที่มีสีเข้มกว่า จะมีเปอร์เซ็นต์เมล็ดแข็งสูงกว่า

ลักษณะการเจริญเติบโต

ผักบุ้งจีนนิยมขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด หลังจากเพาะเมล็ด ประมาณ 48 ชั่วโมง ก็จะเริ่มงอก ระยะแรกของการเจริญเติบโตจะให้ลำต้น ที่ตั้งตรง หลังจากงอกประมาณ 5-7 วัน จะมีใบเลี้ยงโผล่ออกมา 2 ใบ ซึ่งมีลักษณะปลายใบเป็นแฉกไม่เหมือนกับใบจริงเมื่อต้นโต ในระยะ 2 สัปดาห์แรก จะมีการเจริญเติบโตทางลำต้นอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งอายุประมาณ 30-45 วันการเจริญเติบโตก็จะเปลี่ยนไปในทางทอดยอดและแตกกอ สำหรับผักบุ้งจีน ที่หว่านด้วยเมล็ดการแตกกอจะมีน้อยมาก การแตกกอเป็นการแตกหน่อออกมาจากตาที่อยู่บริเวณโคนต้นที่ติดกับราก มีตาอยู่รอบต้น 3-5 ตา เมื่อแตกเถาออกมาแล้วจะเจริญทอดยอดยาวออกไปเป็นลำต้น มีข้อมีปล้องและทุกข้อจะให้ดอกและใบ อายุประมาณ 120-130 วันหลังจากหยอดเมล็ด หรือ 90 วัน หลังจากดำลงในแปลงเมล็ดก็จะแก่พอที่จะเก็บเกี่ยวได้

พันธุ์ผักบุ้งจีน

พันธุ์ผักบุ้งจีนที่ปลูกในประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์การค้าที่ผลิตออกจำหน่ายโดยบริษัทเอกชน ทั้งที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ในประเทคไทย และนำเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งมีการตั้งชื่อพันธุ์ตามบริษัทผู้แทนจำหน่าย เช่น พันธุ์ตราศรแดง พันธุ์ตราเครื่องบิน พันธุ์ตราช่อฟ้า พันธุ์ตราปลา พันธุ์ตรางาช้างคู่ และพันธุ์ตราสิงห์โต เป็นต้น พันธุ์จากบางบริษัทยังมีลักษณะแปรปรวนทางพันธุกรรมอยู่มาก บางบริษัทสั่งเมล็ดพันธุ์ โดยตรงจากประเทศไต้หวัน แต่ราคาค่อนข้างสูง

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2537 กรมวิชาการเกษตรได้รับรองพันธุ์ผักบุ้งจีนที่ได้ผ่านการปรับปรุงพันธุ์มาอย่างดีแล้ว และแนะนำให้เกษตรกรปลูกคือ พันธุ์พิจิตร 1 ประวัติความเป็นมาของผักบุ้งพันธุ์พิจิตร 1 โดยได้เริ่มการศึกษาการผลิตเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนที่สถานีทดลองพืชสวนฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา ซึ่งในระยะนั้นเกษตรกรปลูกผักบุ้งจีนจากเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามาจากประเทศไต้หวัน พบว่ามีความแปรปรวน ทางพันธุกรรมสูงมาก จึงได้มีการคัดเลือกพันธุ์แบบ mass selection ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ. 2527 ได้นำมาคัดเลือกต่อที่ศูนย์วิจัยพืชสวนพิจิตร และในปี พ.ศ. 2529 ได้นำสายพันธุ์จากการคัดเลือกไปเปรียบเทียบกับพันธุ์การค้าจำนวน 3 พันธุ์ คือ พันธุ์ไต้หวัน, ตราเพชร, และพันธุ์จากร้านค้าจังหวัดพิจิตร พบว่าสายพันธุ์ที่ได้จากการคัดเลือกให้ผลผลิตสูงกว่า และมีคุณภาพของต้นผักบุ้งจีนดีกว่า แต่ยังมีความแปรปรวนอีกเล็กน้อย จึงได้นำสายพันธุ์ดังกล่าวมาคัดเลือกสายพันธุ์บริสุทธิ์ตั้งแต่ปีพ.ศ.2530 – 2534 จนได้สายพันธุ์ผักบุ้งจีน พจ.1-1-1 เพื่อนำไปทดสอบพันธุ์ตามศูนย์วิจัย สถานีทดลองของสถาบันวิจัยพืชสวน และในไร่ของเกษตรกรที่ปลูกผักบุ้งจีนเป็นการค้า จากการทดสอบพันธุ์พบว่าผักบุ้งจีนสายพันธุ์ พจ.1-1-1 เป็นสายพันธุ์ ที่ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์การค้าประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ ต้นมีคุณภาพดีและมีความสมํ่าเสมอของต้นดีกว่าพันธุ์การค้าทุกพันธุ์ จึงได้ตั้งชื่อว่า พันธุ์พิจิตร 1 ลักษณะประจำพันธุ์ของผักบุ้งจีนพันธุ์พิจิตร 1 ลำต้นมีสีเขียวอ่อน สูง 34.7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้น 0.7 เซนติเมตร ความหนาของลำต้น 0.13 เซนติเมตร จำนวนข้อเฉลี่ย 7 ข้อต่อต้น ต้นไม่ทอดยอดก่อนการเก็บเกี่ยว ไม่มีการแตกแขนงของลำต้นที่โคนต้น และไม่มีตุ่มเล็ก ๆ เกิดที่โคนต้น ขนาดของใบ 2.6 X 13.2 เซนติเมตร ใบมีลักษณะชูตั้งแคบเรียวยาว ดอกมีสีขาว เมล็ดมีสีนํ้าตาล อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 20-25 วัน

สำหรับลักษณะเด่นของพันธุ์พิจิตร 1 คือ ให้ผลผลิตสูงกว่าพันธุ์ การค้าประมาณ 13 เปอร์เซ็นต์ ผลผลิตเฉลี่ย 3,415 กิโลกรัมต่อไร่ ใบแคบ เรียวยาวตรงกับความต้องการของตลาดและใบมีลักษณะชูตั้ง ลำต้นมีสีเขียวอ่อน ไม่มีการทอดยอดก่อนการเก็บเกี่ยว โดยจะเริ่มทอดยอดเมื่ออายุ 55 วัน ไม่มีการแตกแขนงที่โคนต้น มีต้นสมํ่าเสมอ สะดวกและประหยัดแรงงานในการตัดแต่งใบและแขนงที่โคนต้นก่อนนำส่งตลาด แต่ข้อเสียของผักบุ้งจีนพันธุ์พิจิตร 1 คือไม่ต้านทานต่อโรคราสนิมขาว ด้วงเต่าและตั๊กแตน

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม

ผักบุ้งจีนสามารถปลูกได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และสามารถปลูกได้ทั้งบนดินและในนํ้า เจริญเติบโตได้ในดินแทบทุกชนิด แต่ดินที่เหมาะสมในการปลูกผักบุ้งจีนเพื่อการบริโภคสดคือดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย ความเป็นกรดเป็นต่าง (pH) ของดินอยู่ในช่วงเป็นกรดเล็กน้อยจนถึงปานกลาง ผักบุ้งจีน ไม่ชอบดินเค็ม ถ้าดินมีเกลือมากจะเจริญเติบโตได้ไม่ดี ผักบุ้งจีนชอบชื้นแฉะ และต้องการความชื้นในดินสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อมีนํ้ามากผักบุ้งจีนจะเจริญ เติบโตได้อย่างรวดเร็ว แต่ถ้าปริมาณนํ้าไม่เพียงพอจะชะงักการเจริญเติบโต และลำต้นจะแข็งกระด้าง ไม่น่ารับประทาน สำหรับอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตอยู่ในช่วงที่สูงกว่า 25 องศาเซลเซียส ต้องการแสงแดดเต็มที่ ซึ่งในประเทศไทยสามารถปลูกผักบุ้งจีนได้ตลอดทั้งปี

การปลูก

การเลือกพื้นที่ปลูก การปลูกผักบุ้งจีนเพื่อการบริโภคสดเป็นการปลูกแบบหว่านหรือโรยเมล็ดลงบนแปลงปลูกโดยตรง เมื่อถึงอายุเก็บเกี่ยวคือ ประมาณ 20-25 วัน ก็จะถอนต้นผักบุ้งจีนทั้งต้นและรากออกจากแปลงปลูก ไปบริโภคหรือจำหน่ายต่อไป ดังนั้นก่อนปลูกควรเลือกปลูกในที่ที่มีการคมนาคมสะดวก เป็นสภาพพื้นที่ดอน น้ำไม่ท่วม หรือเป็นแบบสวนผักแบบยกร่องในจังหวัดนนทบุรี นครปฐม และราชบุรี ลักษณะดินควรเป็นดินร่วนหรือดินร่วนปนทราย เพื่อให้ถอนต้นผักบุ้งจีนได้ง่าย และควรอยู่ใกล้แหล่งนํ้าเพื่อสะดวกในการรดนํ้าในช่วงการปลูก และสะดวกในการทำความสะอาดต้นและราก ในช่วงเก็บเกี่ยว

การเตรียมดิน เนื่องจากผักบุ้งจีนเป็นพืชที่มีระบบรากตื้น และอายุการเก็บเกี่ยวสั้นประมาณ 20-25 วัน ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ในการเตรียมดินควรไถดะลึกประมาณ 10-15 เซนติเมตรก็พอแล้ว ตากดินไว้ประมาณ 10-15 วัน แล้วทำการไถพรวนย่อยดินและยกแปลงปลูก ขนาดแปลงปลูก กว้าง 1.5-2 เมตร ยาว 10-15 เมตร โดยเว้นทางเดินระหว่างแปลงไว้ 40-50 เซนติเมตร ทั้งนี้เพื่อสะดวกในการปฎิบัติดูแลรักษา หลังจากยกแปลงเรียบร้อย แล้วจึงใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วในอัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่ คลุกเคล้าปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักให้เข้ากับดิน พรวนย่อยหน้าดินบนแปลงให้ละเอียดและปรับหลังแปลงให้เรียบเสมอกัน อย่าให้หลังแปลงเป็นหลุมเป็นบ่อ เพราะจะทำให้ผักบุ้งขึ้นไม่สมํ่าเสมอกันทั้งแปลง หากดินเป็นกรดมากควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับความเป็นกรดของดิน

วิธีปลูก การปลูกผักบุ้งจีนนิยมปลูกแบบหว่านกระจายทั่วแปลง หรือ บางครั้งอาจใช้โรยเมล็ดเป็นแถวก็ได้ การปลูกแบบหว่านกระจายทั่วแปลง เหมาะสำหรับแปลงปลูกทุกรูปแบบ แต่การปลูกแบบโรยเมล็ดเป็นแถวเหมาะ สำหรับแปลงปลูกขนาดเล็กหรือปลูกผักบุ้งจีนเป็นผักสวนครัว

เนื่องจากเมล็ดผักบุ้งจีนมีเปลือกที่หนาและแข็ง ทำให้งอกค่อนข้างยากและช้า เพราะนํ้าซึมผ่านเข้าไปในเมล็ดได้ยาก ดังนั้นก่อนปลูกควรนำเมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนไปแช่ในนํ้านานประมาณ 6-12 ชั่วโมงเสียก่อน เพื่อให้เมล็ดพันธุ์ผักบุ้งจีนดูดซับนํ้าเข้าไปในเมล็ด มีผลให้เมล็ดผักบุ้งจีนงอกเร็วขึ้น และสมํ่าเสมอกันดี เมล็ดที่ลอยนํ้าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สมบูรณ์ ไม่ควรนำไปเพาะปลูก ถึงแม้จะขึ้นได้บ้างแต่จะไม่สมบูรณ์แข็งแรง อาจจะเป็นแหล่ง ทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย หลังจากแช่นํ้าครบกำหนดแล้วให้นำเมล็ดพันธุ์ที่ดีไม่ลอยนํ้ามาหว่านให้กระจายทั่วทั้งแปลงสมํ่าเสมอให้เมล็ดห่างกันเล็กน้อย ถ้าปลูกเป็นแถวโดยโรยเมล็ดให้เป็นแถวห่างกันแถวละ 10-15 เซนติเมตร ต่อจากนั้นนำดินร่วนหรือขี้เถ้าแกลบดำมาหว่านกลบเมล็ดพันธุ์หนาประมาณ 2-3 เท่าของความหนาของเมล็ดหรือหนาประมาณ 1/2 เซนติเมตร แต่ถ้าแหล่งที่ปลูกนั้นมีเศษฟางข้าวควรใช้ฟางข้าวคลุมแปลงปลูกบาง ๆ เพื่อช่วยเก็บรักษาความชื้นในดินและทำให้หน้าดินปลูกไม่แน่นเกินไป

หลังจากปลูกเสร็จแล้วให้รดนํ้าด้วยบัวรดนํ้าฝอยละเอียดหรือใช้สายยางติดฝักบัวรดนํ้าทันที และให้ความชื้นแปลงปลูกทุกๆ วันๆ ละ 1-2 ครั้ง หลังจากหว่านเมล็ดประมาณ 2-3 วัน เมล็ดพันธุ์จะงอกเป็นต้นผักบุ้งจีนต่อไป สำหรับจำนวนเมล็ดที่ใช้หว่านคือประมาณ 13-15 กิโลกรัมต่อไร่ หรือ 30 ลิตรต่อไร่

การปฏิบัติดูแลรักษา

การให้นํ้า ผักบุ้งจีนเป็นผักที่ชอบดินปลูกที่ชุ่มชื้นแต่ไม่แฉะจนมีนํ้าขัง ประกอบกับผักบุ้งจีนเป็นผักที่โตเร็วและมีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น ดังนั้นควรรดนํ้าผักบุ้งจีนอย่างสมํ่าเสมอทุกวันๆ ละ 1-2 ครั้ง ยกเว้นช่วงที่ฝนตกไม่ต้องรดนํ้า ไม่ควรปล่อยให้แปลงปลูกผักบุ้งจีนขาดนํ้าติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน เพราะจะทำให้ผักบุ้งจีนชะงักการเจริญเติบโต ต้นแคระแกร็น แข็งกระด้างและเหนียวไม่น่ารับประทาน คุณภาพไม่ดี และเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่าปกติ

การใส่ปุ๋ย ผักบุ้งจีนเป็นผักที่ใช้บริโภคใบและลำต้น อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เป็นผักที่ตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนมาก ถ้าดินปลูกมีความอุดมสมบูรณ์ หรือมีการใส่ปุ๋ยคอกมาก เช่น มูลสุกร วัว เป็ด ไก่ เป็นต้น ซึ่งปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูงอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นจะต้องใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มก็ได้ แต่ถ้าดินปลูกไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ นอกจากจะต้องให้ปุ๋ยคอกแล้วควรได้มีการใส่ปุ๋ยทางใบ ที่มีไนโตรเจนสูง เช่น ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ในอัตรา 15-20 กิโลกรัมต่อไร่ โดยการหว่านปุ๋ยให้กระจายทั่วทั้งแปลงก่อนปลูก และหลังจากปลูกไปได้ ประมาณ 7-10 วัน ซึ่งการใส่ปุ๋ยครั้งที่สองนั้นหลังจากหว่านปุ๋ยลงแปลงแล้ว จะต้องทำการรดนํ้าผักบุ้งจีนทันที อย่าให้ปุ๋ยเกาะอยู่ที่ซอกใบเพราะจะทำให้ใบไหม้ได้ หรือในการใส่ปุ๋ยครั้งที่สองนี้อาจจะใช้วิธีการละลายนํ้ารด 3-5 วันต่อครั้งก็ได้ โดยใช้ปุ๋ยยูเรียในอัตราส่วน 10 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร รดให้ทั่วแปลง จะช่วยให้ผักบุ้งจีนเจริญเติบโตดีและเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น

การพรวนดินและกำจัดวัชพืช หากมีการเตรียมดินดี มีการใส่ปุ๋ยคอกก่อนปลูก และมีการหว่านผักบุ้งขึ้นสมํ่าเสมอดี ประกอบกับผักบุ้งจีน เป็นผักที่มีอายุสั้นและเจริญเติบโตเร็วมากก็ไม่จำเป็นต้องพรวนดิน เพราะผักบุ้งจีนสามารถขึ้นคลุมพื้นที่ได้อย่างหนาแน่น เว้นแต่ในแหล่งปลูกผักบุ้งจีนดังกล่าวมีวัชพืชขึ้นมาก ควรได้มีการถอนวัชพืชออกจากแปลงอยู่เสมอ ประมาณ 7-10 วันต่อครั้ง สำหรับในแหล่งที่ปลูกผักบุ้งจีนเพื่อการบริโภคสดเป็นการค้า ปริมาณมากๆ ควรมีการพ่นสารคุมวัชพืชก่อนปลูก 2-3 วัน หลังจากนั้นจึงหว่านผักบุ้งจีนลงปลูก วิธีนี้จะประหยัดแรงงานในการกำจัดวัชพืชในแปลงผักบุ้งจีนได้ และสามารถควบคุมวัชพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การเก็บเกี่ยว

ผักบุ้งจีนเป็นพืชผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น หลังจากหว่านเมล็ดพันธุ์ลงแปลงปลูกได้ประมาณ 20-25 วัน ผักบุ้งจีนก็จะเจริญเติบโต มีความสูงประมาณ 30-35 เซนติเมตร ก็สามารถเก็บเกี่ยวได้ ก่อนทำการเก็บเกี่ยว 1 -2 ชั่วโมงควรรดนํ้าบนแปลงปลูกให้ชุ่มก่อนเพื่อให้ถอนผักบุ้งจีนได้สะดวก รากไม่ขาดมาก

วิธีการเก็บเกี่ยวโดยการถอนต้นผักบุ้งจีนจากแปลงขึ้นมาทั้งต้นและราก หลังจากนั้นล้างรากให้สะอาด เด็ดใบและแขนงที่โคนต้นออก นำมาผึ่งไว้ไม่ควรไว้กลางแดดจะทำให้ผักบุ้งจีนเหี่ยวเฉาได้ง่าย จัดเรียงต้นผักบุ้งจีนเป็นมัดเตรียมบรรจุภาชนะเพื่อจัดส่งตลาดต่อไป การถอนขึ้นมาทั้งรากนี้จะทำให้ผักบุ้งสดอยู่ได้นานก่อนถึงมือผู้บริโภค เมื่อจะนำไปประกอบอาหาร จึงตัดส่วนที่แก่ทิ้งไป นำส่วนยอดไปรับประทาน แต่ถ้าเป็นการปลูกเพื่อใช้รับประทานเองก็ไม่จำเป็นต้องถอนต้นขึ้นมาจากดินโดยใช้มีดตัดต้นเหนือดิน ประมาณ 3 เซนติเมตร หลังจากนั้นผักบุ้งจะแตกแขนงออกมาจึงใส่ปุ๋ยบำรุงต่อไปก็จะมีผักบุ้งจีนรับประทานทุกๆ 25-30 วัน โดยไม่ต้องปลูกใหม่และไม่สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์ด้วย แต่การปลูกเพื่อรับประทานเองนี้การปลูกควรหยอดเมล็ดเป็นแถว ทั้งนี้เพื่อให้สะดวกในการพรวนดินใส่ปุ๋ยต่อไปหลาย ๆ ครั้ง

โรคและแมลง

ในการปลูกผักบุ้งจีนเพื่อจำหน่ายเป็นผักสด ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 20-25 วันเท่านั้น ปัญหาการเข้าทำลายของโรคและแมลงจะอยู่ในระดับที่ไม่รุนแรงเท่าใดนัก จึงไม่ควรใช้สารเคมีฉีดพ่นโดยไม่จำเป็น แต่หากจำเป็นต้องใช้ควรใช้สารเคมีกลุ่มที่มีการสลายตัวอย่างรวดเร็ว สำหรับโรคที่สำคัญของผักบุ้งจีน มีดังนี้

โรคสนิมขาว เป็นโรคที่แพร่หลายและสร้างความเสียหายให้กับผักบุ้งจีน มากที่สุด ซึ่งสามารถพบได้เกือบทุกท้องที่ที่มีการปลูกผักบุ้งจีน สาเหตุเกิดจาก เชื้อรา Albugo ipomoea ระบาดมากในช่วงฤดูฝนหรือช่วงที่แปลงปลูกมีความชื้นสูง

ลักษณะอาการ อาการของโรคสนิมขาวในผักบุ้งที่พบทั่วไปแบ่ง ออกได้ 2 แบบตามลักษณะการเข้าทำลายและอาการที่แสดงออก คืออาการเฉพาะแห่ง โดยจะเกิดขึ้นตรงจุดที่เชื้อเข้าทำลายเริ่มจากเกิดจุดเชลล์ตายสีเหลืองซีดขึ้นที่ด้านบนของใบก่อน ต่อมา 2-3 วัน ที่ด้านล่างใบตรงกันจะเกิดแผลลักษณะเป็นกระจุกสีขาวซึ่งเป็นกลุ่มของสปอร์ มองดูเป็นตุ่มนูนเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 1-2 มิลลิเมตรเกิดขึ้นทั่วไป ตุ่มเหล่านี้หากเกิดมากๆ อาจต่อเชื่อมกันกลายเป็นแผลใหญ่ ทำให้มีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน เมื่อเกิดแผลตุ่มสีขาวขึ้นนั้นผิวด้านบนของใบซึ่งแสดงอาการซีดเหลืองในตอนแรกก็จะโป่งพองออกเป็นปุ่มปมคล้ายผิวมะระ ไม่ราบเรียบเหมือนปกติ ส่วนใหญ่แล้วอาการเฉพาะแห่งนี้จะเกิดและพบมากกับใบ แต่ในบางครั้งก็จะเกิดกับส่วนของต้นและก้านใบได้เช่นกัน ส่วนอีกแบบหนึ่งเป็นอาการแพร่กระจายที่เกิดขึ้นจากการที่เชื้อเข้าไปอยู่ภายในต้นพืช ซึ่งจะทำให้พืชแสดงอาการผิดปกติในลักษณะการสร้างเป็นปุ่มปมหรือบวมพองโตขึ้นที่ส่วนของใบ ลำต้นและกิ่งก้าน ส่วนของลำต้นอ้วนหนา ปล้องหดสั้น ใบที่เกิดมีขนาดและรูปร่างผิดปกติ อาจบิดเบี้ยวหรือหยักเป็นคลื่น

ต้นผักบุ้งที่เกิดโรคสนิมขาวมักจะไม่รุนแรงถึงตาย แต่ถ้าเป็นโรค ตั้งแต่ยังเล็กอยู่ก็เพียงแต่ทำให้ผักบุ้งจีนชะงักการเจริญเติบโต ต้นไม่สมบูรณ์ สำหรับในต้นโตความเสียหายที่เกิดขึ้นเพียงแต่ทำให้ได้ผลผลิตที่ไม่สวย ผู้บริโภคอาจจะรังเกียจ และขายไม่ได้ราคา

การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดก่อนปลูกด้วยเมตาแล็คซิลและเลือกใช้เมล็ดจากแหล่งที่ไม่มีโรคระบาดมาก่อน ดูแลระบบการให้นํ้าในแปลงอย่าให้ชื้นแฉะจนเกินไป และเมื่อเกิดโรคระบาดให้ฉีดพ่นใต้ใบด้วยเมตาแล็คซิลสลับกับแมนโคเซบ ตามอัตราที่แนะนำบนฉลาก หากมีฝนตกชุกให้ผสมสารจับใบด้วยโรคใบไหม้ สาเหตุเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Xanthomonas compestris ลักษณะอาการของโรคใบไหม้ที่เกิดขึ้นกับผักบุ้งจีนก็คือ จะเกิดจุดตุ่มใสเล็ก ๆ ใต้ใบ ต่อมาจุดแผลจะขยายออกกลายเป็นสีนํ้าตาล-สีดำ ฉ่ำน้ำ ใบจะเหลืองซีด และแห้งเหี่ยวร่วงหล่นจากต้น

การป้องกันกำจัด เก็บรวบรวมพืชที่เป็นโรคไปเผาทำลาย ใช้ปูนขาว ในอัตรา 500 กิโลกรัมต่อไร่ คลุกในดินปลูก แล้วตากดินไว้อย่างน้อย 1 เดือน และปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน

โรคราสนิมเหลือง สาเหตุเกิดจากเชื้อรา Aecidium ipomoeae ลักษณะอาการที่เห็นได้ชัดคือ ผิวใบด้านล่างมีแผลกลมนูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร เมื่อโตเต็มที่จะแตกออกมาเป็นรูเพื่อให้ผงสปอร์ สีเหลืองแพร่กระจายออกมา ผิวใบด้านบนไม่นูนแต่เว้าเป็นแอ่งลงไปเล็กน้อย สำหรับการป้องกันกำจัดทำเช่นเดียวกับโรคราสนิมขาว

โรคเน่าคอดิน สาเหตุเกิดจากเชื้อรากลุ่ม Pythium spp. ระบาดมากในช่วงปลูกใหม่ โดยเฉพาะในแปลงที่มีการหว่านเมล็ดพันธุ์แน่นเกินไป และดินปลูกมีความชื้นสูง โรคนี้จะทำให้ต้นกล้าผักบุ้งจีนเป็นแผลเน่าที่โคนต้น และเหี่ยวตายอย่างรวดเร็ว

การป้องกันกำจัด คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารเมตาแล็คซิล ซึ่งมีชื่อการค้าว่า เอพรอล 35 หรือริโดมิล 5 จี อัตรา 7 กรัมต่อเมล็ดพันธุ์ 1 กิโลกรัม หว่านผักบุ้งในอัตราที่สมํ่าเสมอไม่แน่นเกินไป ไม่ควรรดนํ้าจนมีนํ้าขังบนแปลง หากพบผักบุ้งแสดงอาการของโรคให้ถอนและนำไปเผาทำลาย และหากมีการระบาดรุนแรงให้ฉีดพ่นด้วยสารโฟเซทิล ซึ่งมีชื่อการค้าว่า อาลิเอท อัตรา 50 กรัมต่อนํ้า 20 ลิตร ควรฉีดพ่นก่อนเก็บเกี่ยวอย่างน้อย 7-10 วัน

หนอนกระทู้ผัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Spodoptera litura ตัวเต็มวัยเป็นผีเสื้อกลางคืน ปีกคู่หน้ามีจุดสีนํ้าตาลเข้ม มีลวดลายเต็มปีก ส่วนปีกคู่หลัง สีขาว บาง ลำตัวมีขนสีนํ้าตาลอ่อนปกคลุมอยู่ ตัวเมียวางไข่เป็นกลุ่มโดยมีขนสีนํ้าตาลปกคลุมไข่ไว้ ไข่ใหม่ ๆ จะมีสีขาวนวลและจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาลและสีดำเมื่อไข่ใกล้จะฟักออกเป็นตัว ไข่มีอายุ 3-7 วันจึงฟักออกเป็นตัวหนอน ตัวหนอนเมื่อออกจากไข่ใหม่ ๆ จะมีสีเขียวอ่อนหรือสีนวลอยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่ไข่ฟักออกนั้น ลักษณะลำตัวอ้วนป้อม ผิวหนังเรียบ เคลื่อนไหวช้า หนอนจะออกหากินกลางคืน ปกติแล้วหนอนจะเข้าดักแด้ในดินตรงรอยแตกระแหง หรือตามกองขยะ ดักแด้สีน้ำตาลดำ ยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร อายุดักแด้ประมาณ 7-12 วัน จึงเข้าระยะตัวเต็มวัย

ลักษณะการทำลาย ตัวหนอนที่เกิดใหม่จะอยู่กันเป็นกลุ่มและแทะกินผิวใบจนบางใสหรือพรุนไปหมด ส่วนหนอนตัวโตก็จะกัดกินใบหรือก้านใบ ผักบุ้งจีนเป็นรูพรุน ทำให้ใบผักบุ้งจีนมีตำหนิ ไม่สวย ขายไม่ได้ราคา

การป้องกันกำจัด ก่อนปลูกควรมีการไถดินตากแดดไว้ 10-15 วัน ทำความสะอาดบริเวณรอบแปลงปลูก และหมั่นตรวจดูแปลงปลูกอย่างสมํ่าเสมอ หากพบหนอนชนิดนี้ให้ทำลายด้วยมือ หรือใช้กับดักกาวเหนียวสีเหลืองปัก ภายในบริเวณแปลงในอัตรา 80 กับดักต่อไร่

เต่าทองผักบุ้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aspidomorpha fuscopunctata สามารถระบาดได้ทุกแห่งที่มีการปลูกผักบุ้ง ตัวเต็มวัยจะวางไข่มีลักษณะคล้ายเกล็ดปลาตามใต้ใบผักบุ้งโดยวางไข่ในแนวนอนซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ไข่มีขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร ไข่มีสีนํ้าตาล เมื่อเปิดผิวด้านบนของไข่ออกจะพบว่าภายในมีไข่เรียงซ้อนกันประมาณ 2-5 ฟอง รูปร่างคล้ายไข่ทั่วๆไปมีสีเหลืองอ่อน ไข่นี้จะมีสีเข้มขึ้นจนเป็นสีเหลืองปนนํ้าตาลเมื่อไข่ใกล้จะฟักออกเป็นตัวอ่อน ระยะการเป็นไข่ใช้เวลาประมาณ 5-10 วัน ตัวอ่อนเมื่อฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ มีขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีสีขาว และมีแพนหางติดอยูที่ส่วนท้ายของลำตัว ลำตัวแบน มีขาจริง ๆ 3 คู่ เมื่อตัวอ่อนเจริญเติบโตขึ้นจะมีลายสีนํ้าตาลทองปรากฏบริเวณลำตัว แพนหางมี 5 ปล้อง เรียวยาว มีสีขาวติดอยู่บริเวณปลายของส่วนท้อง ตัวอ่อนทั่ว ๆ ไป จะมีขนบริเวณรอบ ๆ ตัว และชอบเกาะอยู่เดี่ยว ๆ โดยมากเกาะนิ่งอยู่กับที่ ตรงบริเวณใต้ใบผักบุ้ง เมื่อตัวอ่อนโตขึ้นขนบริเวณรอบลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล ลำตัวมีสีขาวปนเหลือง ตัวอ่อนมีการลอกคราบ 4 ครั้ง ตัวอ่อนโตเต็มที่มีขนาดความยาวของลำตัวประมาณ 8 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 4 มิลลิเมตร ระยะการเป็นตัวอ่อนใช้เวลา 13-17 วัน จึงเข้าระยะดักแด้โดยใช้ส่วนท้ายของลำตัวยึดติดกับใต้ใบพืช แล้วหดตัวเข้าดักแด้ ส่วนหลังของดักแด้โค้งงอเล็กน้อย ดักแด้มีสีนํ้าตาลปนเหลือง ระยะการเป็นดักแด้ใช้เวลา 7-10 วันจึงเป็นตัวเต็มวัย

ตัวเต็มวัยส่วนใหญ่เพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ มีความยาวของลำตัวประมาณ 6-7 มิลลิเมตร ความกว้างของลำตัวประมาณ 4-5 มิลลิเมตร นัยน์ตารวมมีสีดำเห็นได้ชัด หนวดมีสีเหลืองอ่อน ส่วนปลายหนวดมีสีดำ บริเวณทางด้านบนของลำตัวจะมองเห็นเป็นแถบสีทองรูปตัวยู แต่ส่วนบนของเพศผู้ จะมีสีทองขยายไปจนถึงส่วนของอกด้านบน ถ้าสังเกตตัวเต็มวัยในกลางแดด จะเห็นเงาสีทองบนลำตัวสะท้อนแสงได้ดี ขาทุกคู่มีสีเหลือง ลำตัวค่อนข้างแบน ระยะการเป็นตัวเต็มวัยประมาณ 45-75 วัน

ลักษณะการทำลาย ตัวอ่อนและตัวเต็มวัยทำลายผักบุ้งโดยกัดกินใบผักบุ้งบริเวณใต้ใบและบนใบ ทำลายครั้งแรกจะกัดกินเฉพาะบริเวณผิวเซลล์ ภายนอกของใบผักบุ้งก่อน หลังจากนั้นจึงกัดกินทำให้ใบผักบุ้งเป็นรูไปทั่ว และยังกัดกินทำให้ใบเว้าแหว่งอีกด้วย

การป้องกันกำจัด เนื่องจากตัวเต็มวัยแมลงชนิดนี้เคลื่อนไหวได้ช้า และตัวอ่อนชอบเกาะอยู่กับที่ หากพื้นที่การเพาะปลูกไม่มากควรใช้สวิงจับตัวเต็มวัยและคอยเก็บตัวอ่อนหรือไข่ไปทำลาย แต่ถ้าหากจำเป็นต้องใช้สารเคมีควรใช้ เมวินฟอส อัตรา 20-30 ซีซี.ต่อน้ำ 20 ลิตร ควรทำการพ่นเป็นระยะทุก ๆ 5 วัน

เต่าเงินผักบุ้ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cassida circumdata ตัวเต็มวัย ชอบวางไข่ฟองเดี่ยว ๆ ไข่มีสีเขียวอ่อนและมีสารสีขาวห่อหุ้มไข่ไว้ โดยทั่วไปไข่มีรูปร่างลักษณะเรียวยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร เมื่อไข่ใกล้จะฟักเป็นตัวอ่อนจะเปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล ระยะการเป็นไข่ใช้เวลา 1-2 วัน ตัวอ่อนมีขาจริง 3 คู่ ลำตัวแบนสีเขียวอ่อนและสีจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้นตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่ใหม่ ๆ ลำตัวยาวประมาณ 1 มิลลิเมตร มีแพนหางสีน้ำตาลขาวมักเกาะนิ่งอยู่กับที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ตัวอ่อนจะเคลื่อนที่เมื่อบริเวณที่เกาะเริ่มเหี่ยวแห้งหลังจากถูกกัดกิน ก่อนตัวอ่อนเข้าดักแด้จะสร้างสารออกมาห่อหุ้มลำตัวติดกับบริเวณที่เข้าดักแด้ จากนั้นจะหยุดกินอาหารและเข้าดักแด้ ระยะตัวอ่อนใช้เวลาประมาณ 11-15 วัน มีการลอกคราบ 4 ครั้ง ดักแด้มีขนาดเล็กกว่าเต่าทองผักบุ้ง ที่ต่างออกไปก็คือมีสารห่อหุ้มดักแด้ไว้ เมื่อเข้าดักแด้ใหม่ ๆ จะมีสีขาวปนเขียว หลังจากนั้นจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีนํ้าตาล เมื่อเป็นตัวเต็มวัยก็จะเจาะออกมาจากเกราะดักแด้ทางด้านหัว ระยะดักแด้ใช้เวลา 4-5 วัน

ตัวเต็มวัยเป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก ยาวประมาณ 5.28 มิลลิเมตร กว้างประมาณ 4.20 มิลลิเมตร มีสีเขียวแกมเหลือง นัยน์ตารวมมีสีดำ หนวดมีสีนํ้าตาล ส่วนใต้ท้องมีสีนํ้าตาลเหลือง บนปีกคู่หน้าจะมีแถบสีดำเป็นรูปตัวยูล้อมรอบด้วยสีเขียวเหลือง โดยทั่วไปเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ ตัวเต็มวัยมีอายุนานประมาณ 45-65 วัน

ลักษณะการทำลาย ตัวเต็มวัยจะชอบวางไข่ตามบริเวณก้านใบ ใต้ใบ หรือบนใบผักบุ้ง ทำลายผักบุ้งโดยตัวอ่อนและตัวเต็มวัยชอบเกาะและกัดกินใต้ใบผักบุ้ง โดยกัดกินเฉพาะส่วนของคลอโรฟีลล์ที่มีสีเขียว ในกรณีที่ระบาดมาก ๆ จะกัดกินจนใบทะลุ ทำให้มองเห็นใบถูกทำลายเป็นรูไปทั่ว หลังจากนั้น ใบจะเหี่ยวแห้งทำให้ใบที่ถูกทำลายไม่น่ารับประทาน ขายไม่ได้ราคา สำหรับการปัองกันกำจัดเต่าเงินผักบุ้งก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับเต่าทองผักบุ้ง

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

« 1794
หากท่านไม่ได้เป็นสมาชิก ท่านจำเป็นต้องป้อนตัวอักษรของ Anti-spam word ในช่องข้างบนให้ถูกต้อง
The content of this field is kept private and will not be shown publicly. This mail use for contact via email when someone want to contact you.
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง